ต่างชาติลงทุนไทยปี65 ขนเงินเข้าปท.1.28แสนล้าน

20 ม.ค. 2566 | 04:51 น.

ต่างชาติลงทุนไทยปี65 ขนเงินเข้าประเทศ1.28แสนล้าน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 กว่า 56% หรือ 46,273 ล้านบาท ญี่ปุ่นนำโด่ง สิงคโปร์ และฮ่องกง จ้างงานคนไทยรวม 5,253 คน

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปี 2565 ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 583 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 218 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 365 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 128,774 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 5,253 คน ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 151 ราย เงินลงทุน 39,515 ล้านบาท สิงคโปร์ 98 ราย เงินลงทุน 15,893 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 71 ราย เงินลงทุน 3,418 ล้านบาท ฮ่องกง 40 ราย เงินลงทุน 18,188 ล้านบาท และ จีน 31 ราย  เงินลงทุน 23,306 ล้านบาท

 

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 13 ราย ปี 2565 อนุญาต 583 ราย ปี 2564 อนุญาต 570 ราย เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 46,273 ล้านบาท คิดเป็น 56% และมีมูลค่าการ ลงทุน 128,774 ล้านบาท ปี 2564 ลงทุน 82,501 ล้านบาท โดยปี 2564 ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และ สหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับปี 2565

ต่างชาติลงทุนไทยปี65 ขนเงินเข้าปท.1.28แสนล้าน

 

 ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตในปี 2565 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ  นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ  และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ปี 2565 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 119 ราย คิดเป็น 20% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด มูลค่าการลงทุน 52,879 ล้านบาท คิดเป็น 41% ของเงินลงทุนทั้งหมด โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 47 ราย ลงทุน 24,738 ล้านบาท จีน 11 ราย ลงทุน 11,444 ล้านบาท และ สิงคโปร์ 11 ราย ลงทุน 5,005 ล้านบาท

ธุรกิจที่ลงทุน  เช่น บริการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย บริการ พัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นการออกแบบและพัฒนาระบบบริหารจัดการควบคุมการผลิตในโรงงาน และระบบบริหารจัดการสินค้าคงคลัง และ  บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชัน การอัพเกรดซอฟต์แวร์ต่างๆ เป็นต้น