เฮ ต่อเวลายกเว้นเก็บ "ค่าธรรมเนียมเครื่องจักร" ช่วยโรงงานถึงปี 2567

19 ม.ค. 2566 | 20:18 น.

ข่าวดีผู้ประกอบการโรงงาน หลังครม.เขียวต่ออายุการยกเว้นค่าธรรมเนียมเครื่องจักรออกไปอีก 1 ปี ถึงวันที่ 21 มกราคม 2567 เช็ครายละเอียดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนที่ได้สิทธิ 3 รายการ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบต่ออายุการยกเว้นค่าธรรมเนียมเครื่องจักร โดยให้ขยายระยะเวลาการยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องจักรออกไปอีก 1 ปี มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 21 มกราคม 2567 หลังจากกฎกระทรวงเดิมจะสิ้นสุดผลใช้บังคับในวันที่ 21 มกราคม 2566 นี้

ทั้งนี้ เพื่อเป็นจูงใจให้เจ้าของเครื่องจักรนำเครื่องจักรมาจดทะเบียนกรรมสิทธิ์และสามารถนำเครื่องจักรนั้นไปจดจำนองเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินในการจัดหาทุนมาใช้ในการประกอบกิจการได้ รวมถึงช่วยเหลือ เยียวยา และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบกิจการที่เป็นเจ้าของเครื่องจักร ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยที่เรื่องนี้เป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องจักรโดยเร่งด่วน

สำหรับในขั้นตอนการดำเนินการ ครม.ได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว พร้อมให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

การขยายเวลาการยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องจักร มีด้วยกัน 3 รายการ ดังนี้ 

1. ค่าจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร (เครื่องละ 1,000 บาท หรือถ้าจดทะเบียนหลายเครื่องในโรงงานหรือสถานที่เดียวและคราวเดียวกัน ไม่เกิน 20,000 บาท) 

2. ค่าเครื่องหมายการจดทะเบียนซึ่งเจ้าพนักงานได้ประทับหรือทำไว้ที่เครื่องจักร (เครื่องหมายละ 200 บาท หรือถ้าประทับหรือทำไว้หลายเครื่องในโรงงานหรือสถานที่เดียวกันและคราวเดียวกันไม่เกิน 2,000 บาท) 

3. ค่าคัดสำเนาเอกสารพร้อมด้วยคำรับรองว่าถูกต้อง เฉพาะในคราวเดียวกับการจดทะเทียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร (หน้าละ 10 บาท) ออกไปอีก 1 ปี

คาดรัฐสูญเสียรายได้ 2.8 ล้านบาท

กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว คาดว่า การยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องจักรรวม 3 รายการ ตามร่างกฎกระทรวงนี้จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ ประมาณ 2,871,840 บาท 

อย่างไรก็ตาม จะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการของเจ้าของเครื่องจักรที่ได้รับผลกระทบภาวะเศรษฐกิจกรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และช่วยพยุงสถานะของเจ้าของเครื่องจักรให้สามารถประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมาตั้งแต่มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องจักร ทั้ง 3 รายการดังกล่าว มีผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของเครื่องจักรที่นำมาจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรและได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม 2,392 ราย และมีจำนวนเครื่องจักรที่นำมาจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ รวม 13,786 เครื่อง