“การรถไฟ” เบรก รื้อป้ายสถานีกลางบางซื่อ 33 ล้าน

10 ม.ค. 2566 | 06:35 น.

“การรถไฟ” ร่อนหนังสือ บมจ.ยูนิค เบรกรื้อป้ายสถานีกลางบางซื่อ 33 ล้าน หลังคณะกรรมการฯ มีมติเร่งสอบข้อเท็จจริงด้านราคา-ทีโออาร์ คาดได้ข้อสรุปภายใน 15 วัน

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท. ได้ส่งหนังสือถึง บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 เรื่อง ระงับงานรื้อย้าย จัดหา และติดตั้งงานก่อสร้างปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางชื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟฯ  อ้างถึง 1.สัญญาจ้างก่อสร้างเลขที่ กส.5/รฟฟ./2565 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2565 2.หนังสือการรถไฟฯ เลขที่ รฟ1/2506/2565 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2565 3.หนังสือบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เลขที่ UN/SRT/BS-KA/019/OE66/010301 ลงวันที่ 3 มกราคม 2566 

“การรถไฟ” เบรก รื้อป้ายสถานีกลางบางซื่อ 33 ล้าน

ตามหนังสือที่อ้างถึง 1 การรถไฟฯ ได้ลงนามสัญญาจ้างผู้รับจ้าง บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ต่อมาการรถไฟฯ ได้มีหนังสือแจ้งวันส่งมอบสถานที่ ก่อสร้างและแจ้งให้เริ่มงานในวันที่ 3 มกราคม 2566 ถึงบริษัทฯ ตามอ้างถึง 2 และเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 บริษัทฯ มีหนังสือแจ้งยืนยันการรับมอบสถานที่และยืนยันการเริ่มงานตามหนังสือที่อ้างตามข้อ 3 นั้น 
 

ทั้งนี้การรถไฟฯ มีความประสงค์ขอให้ระงับงานรื้อย้าย จัดหา และติดตั้งงานก่อสร้างปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางชื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟฯ ออกไปก่อน และจะแจ้งให้ทราบต่อไป จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและดำเนินการต่อไป

 

“การส่งหนังสือถึง บริษัท ยูนิคฯ ในครั้งนี้ เพื่อขอให้เลื่อนออกไปก่อน เพื่อรอผลสอบจากกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นเพียงการระงับชั่วคราวไม่ได้ยกเลิกสัญญา เพราะหากกระบวนการสอบข้อเท็จจริงมีข้อเสนอแนะ จะได้นำมาดำเนินการเพิ่มเติม โดย รฟท.ยืนยันว่า การจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ โปร่งใส ถูกต้องมีราคาที่เหมาะสม และไม่แพง” 

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หลังจากเป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีเปลี่ยนป้ายสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ครั้งที่ 1 ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ตัวแทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตัวแทนวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เลขาสภาวิศวกร กรมบัญชีกลาง และฝ่ายกฎหมาย โดยประเด็นสำคัญที่มีการประชุมในครั้งนี้ เป็นไปตามที่คณะกรรมการฯ ได้รับนโยบายจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม และกรรมการสอบข้อเท็จจริง 

 

“การพิจารณาในที่ประชุมทั้ง  2 ประเด็น คือ 1.ให้ดำเนินการระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ว่าการตรวจสอบป้ายราคาเป็นอย่างไร 2.ความเหมาะสมทางด้านราคา แนวคิด และทางเลือกในการดำเนินการ เพื่อดูว่าสามารถประหยัดงบประมาณได้กว่าเดิมหรือไม่ โดยจะให้มีการเปรียบเทียบกับราคาป้ายฯ เมื่อปี 2553 ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร คาดว่าจะได้ข้อสรุปในกรอบระยะเวลา 15 วันแน่นอน” 

 

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เบื้องต้นที่ประชุมได้มอบหมายให้ รฟท.ชี้แจงกลับมายังกระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการฯ ในรายละเอียด  9 ประเด็น ประกอบด้วย 1. ความเป็นมาของโครงการ 2.ขอบเขตงาน (ทีโออาร์) 3.รายละเอียดราคากลาง 4.รายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดราคากลาง (ทุกครั้ง) 5.การขออนุมัติจัดซื้อจัดจ้าง บันทึกสั่งจ้าง และรายละเอียดการสั่งจ้าง 6.สำเนาข้อเสนอราคาของบริษัทผู้รับจ้าง 7.สำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการจ้าง (ทุกครั้ง) 8.สัญญาจ้าง และ9.เปรียบเทียบราคาการติดตั้งป้าย กับราคาตลาดโดยทั่วไป โดยคณะกรรมการฯ มีกำหนดการต้องรายงานผลการสอบสวน ให้กระทรวงคมนาคมทราบ ภายในวันที่ 19 มกราคมนี้ ระยะเวลา 15 วัน นับตั้งแต่วันที่มีการลงนามคำสั่ง