3 กูรู ค้าปลีก ฟันธง เศรษฐกิจปี 66 ‘ท่องเที่ยว’ ปลุกกำลังซื้อคึกคัก

03 ม.ค. 2566 | 05:11 น.

3 กูรูค้าปลีก ชี้ทิศเศรษฐกิจไทยปี 66 เดินหน้าฝ่าภาวะเศรษฐกิจถดถอย ภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนค่าพลังงานพุ่ง ส่งผลการฟื้นตัวในวงแคบเชื่อมั่น “ท่องเที่ยว” สร้างเม็ดเงินปลุกเศรษฐกิจคึกคัก

หลังรัฐบาลประกาศผ่อนคลายมาตรการให้ผู้คนออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ พร้อมเปิดประเทศผ่อนปรนมาตรการเดินทางเข้าประเทศได้ง่ายขึ้น ปลุกให้บรรยากาศการจับจ่ายกลับมาคึกคักขึ้น เห็นได้จากตัวเลขลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในห้างและศูนย์การค้าชั้นนำที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสยามพารากอน ที่มีผู้มาใช้บริการสูงถึง 1.8 แสนคน เพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2562 (ก่อนการระบาดโควิด) ซึ่งมีผู้มาใช้บริการราว 1.6 แสนคน และเมื่อรวม 3 ศูนย์การค้าพบว่ามีทราฟฟิคเพิ่มขึ้นถึง 25% ส่วนไอคอนสยาม ก็เพิ่มขึ้นถึง 21% ขณะที่เซ็นทรัลเวิลด์ ก็มีลูกค้ากลับเข้ามาใช้บริการเพิ่มเกือบเท่ากับช่วงปี 2562 เช่นกัน ถือเป็นสัญญาณที่ดีและส่งต่อมายังปี 2566

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปี 2566 ควรมองเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยเป็น 2 ส่วน คือครึ่งปีแรกและครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจโลกในครึ่งปีแรก ยังคงมีความเสี่ยงแต่มีความเป็นไปได้ที่จะก้าวผ่านภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Global Recession) ของโลกในครึ่งปีหลัง เนื่องจากปัจจัยหลายๆ ด้าน ถ้าสามารถควบคุมได้ดี จะส่งผลต่อครึ่งปีหลังเป็นเชิงบวก เช่น สภาพการเงินโลกที่ตึงตัวจากการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่ม เพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา ถ้าสามารถหยุดการขึ้นดอกเบี้ยของ FED หรือปรับดอกเบี้ยให้ลดลงได้ในครึ่งปีแรก ก็จะทำให้ครึ่งปีหลังมีแนวโน้มการฟื้นตัวได้ดี สำหรับโซนยุโรป ต้องแก้ปัญหา Recession ให้เป็นแบบ Soft Recession ให้ได้

 

“โดยรวมมองว่าครึ่งปีแรกของเศรษฐกิจโลกยังต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด และเร่งแก้ปัญหาโดยด่วนเพราะจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังครึ่งปีหลัง”

ส่วนของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรก จะเป็นการฟื้นตัวอย่างไม่ทั่วถึง จากการเติบโตเชิงบวกของภาคท่องเที่ยว ที่จะสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับระบบเศรษฐกิจไทยให้โตต่อเนื่อง แต่การท่องเที่ยวจะเติบโตได้ รัฐบาลต้องช่วยยกระดับภาคบริการและค้าปลีกของไทย เพราะส่วนนี้ถือเป็น Back Bones ของการท่องเที่ยว เนื่องจากมี SMEs ในระบบกว่า 2.4 ล้านราย และมีการสร้างการจ้างงานกว่า 13 ล้านคน เพราะฉะนั้น ถ้าภาคบริการและค้าปลีกแข็งแรง เครื่องยนต์ตัวเดียวของประเทศไทยคือภาคท่องเที่ยวก็จะแข็งแรงตามไปด้วย และจะส่งต่อโมเมมตัมที่ดีไปยังเศรษฐกิจโดยรวมของไทยในครึ่งปีหลัง

 

“อีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ครึ่งปีแรกของไทยฟื้นตัว เกิดขึ้นจากการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ (Local Consumption) แต่ภาคการส่งออกอาจจะเติบโตช้า เนื่องจากถูกกระทบจากการหดตัวของการค้าโลก อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ซึ่งภาคเอกชนต้องเตรียมแผนทั้งเชิงรับ และเชิงรุก และที่สำคัญต้องปรับตัวตามสถานการณ์ให้ได้อย่างรวดเร็ว”

 

ด้านนายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วันนี้ตลาดเริ่มฟื้นตัวจากโควิด กลับมาดำเนินชีวิตตามปกติ ทำให้เห็นการเติบโตมาตลอด และปรับสูงขึ้นมากในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากเป็นช่วงเทศกาลท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยแล้ว การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เช่น จากตะวันออกกลาง เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย เป็นต้น ช่วยทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลับมาคึกคักขึ้น

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)

“เชื่อว่าตลาดน่าจะเติบโตต่อเนื่องจากช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่ ตรุษจีน ซึ่งปีนี้มาเร็วขึ้น กอปรกับมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ ช้อปดีมีคืน น่าจะช่วยทำให้ตลาดเติบโตได้ต่อไป รวมถึงการที่จีนกำลังจะเปิดประเทศในวันที่ 8 ม.ค. 66 นี้ซึ่งเป็นผลบวกของการท่องเที่ยวไทย โดยนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นประมาณ 30% ของทั้งหมดในส่วนของบิ๊กซีจะได้รับผลบวกค่อนข้างชัดเจน ซึ่งจะมาเสริมนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย ที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งปัจจุบันยอดขายของสาขาสำหรับนักท่องท่องฟื้นตัวกว่า 80% หากมีนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มเข้ามาอีก คาดว่ายอดขายน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในส่วนของค่าเช่า ก็มีการปรับตัวที่ดีขึ้นในไตรมาส 4 และคาดว่าปี 2566 จะปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน”

นางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด

ขณะที่นางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า มองว่าปัจจัยบวก คือ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายลงส่งเสริมให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักๆ ที่เข้ามาในประเทศไทยในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวขณะนี้คือ นักท่องเที่ยวกลุ่มอาเซียน กลุ่มชาติตะวันตก และอินเดีย ขณะที่การเปิดประเทศของจีนจะทำให้มีชาวจีนมาเที่ยวประเทศไทยเป็นจำนวนมากพร้อมอยู่เที่ยวนานขึ้น อันจะส่งผลธุรกิจในประเทศ และทั่วโลกฟื้นตัวได้มากขึ้น

 

ด้านปัจจัยลบที่มีผลต่อเศรษฐกิจโลก คือ ภาวะเงินเฟ้อ ที่ขณะนี้กำลังส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีเรื่องอัตราค่าไฟฟ้า และค่าน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับขึ้นราคา ซึ่งปัจจัยด้านพลังงานถือเป็นต้นทุนสำคัญของภาคธุรกิจต่างๆ รวมถึงธุรกิจค้าปลีกด้วยเช่นกัน หากมีการปรับตัวขึ้นก็จะส่งผลให้ภารธุรกิจต้องปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ เนื่องจากแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว เมื่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของผู้บริโภค รวมถึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

 

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,849 วันที่ 1 - 4 มกราคม พ.ศ. 2566