พาณิชย์เตรียมยกระดับFTAsปี66 หวังสร้างแต้มต่อในเวทีการค้าโลก

31 ธ.ค. 2565 | 11:58 น.

พาณิชย์เตรียมยกระดับFTAsปี66 ทั้ง RCEP และอาเซียน-ญี่ปุ่น มุ่งอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการไทยสร้างแต้มต่อในเวทีการค้าโลก

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) จะมีการปรับปรุงพิกัดระบบฮาร์โมไนซ์ (HS) โดยเปลี่ยนจากฉบับปี 2012 (HS 2012) เป็นฉบับปี 2022 (HS 2022) ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศเป็นหน่วยงาน มีอำนาจในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin: C/O) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreements: FTAs) ต่าง ๆ ของไทย 

 

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

ได้มีระบบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP ที่พร้อมใช้งานได้ในวันที่ 1 มกราคม 2566 แล้ว โดยที่ความตกลง RCEP ถือเป็นความตกลงฉบับแรกจากความตกลง 14 ฉบับของไทยที่จะสามารถใช้ HS 2022 ได้ ส่งผลให้การจัดการเอกสารการส่งออก-นำเข้าต่าง ๆ รวมถึงการสืบค้นข้อมูลอัตราภาษีศุลกากรของผู้ประกอบการทำได้ง่ายขึ้น ช่วยลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในการดำเนินพิธีการศุลกากรขาเข้าและขาออกได้

ปัจจุบันความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้กับประเทศสมาชิกทั้งหมด 13 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา สปป.ลาว สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย และเมียนมา โดยในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2565 มีการสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลง RCEP 

 

พาณิชย์เตรียมยกระดับFTAsปี66  หวังสร้างแต้มต่อในเวทีการค้าโลก

ทั้งในส่วนของการขอออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP และการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต (Approved Exporter) อยู่ที่ 742.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปยังประเทศสมาชิกทั้งหมด 8 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และนิวซีแลนด์  ซึ่งมีรายการสินค้าที่ใช้สิทธิฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมันหล่อลื่น ปลาทูน่ากระป๋อง มันสำปะหลังเส้น ทุเรียนสด และเลนส์สำหรับกล้องถ่าย เครื่องฉาย หรือเครื่องขยาย หรือย่อภาพถ่าย

นอกจากนี้ ความตกลง RCEP จะมีผลบังคับใช้กับ อินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นอีก 1 ประเทศตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งอินโดนีเซียนับเป็นประเทศที่ 14 จากสมาชิก RCEP 15 ประเทศ ที่ความตกลง RCEP ได้มีผลบังคับใช้แล้ว คงเหลือเพียงฟิลิปปินส์ประเทศเดียวที่ยังดำเนินการตามกระบวนการภายในไม่แล้วเสร็จ จึงยังไม่สามารถใช้สิทธิพิเศษลดภาษีในการนำเข้า-ส่งออกภายใต้ความตกลง RCEP ได้

สำหรับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น หรือ AJCEP ที่ได้บังคับใช้ร่วม 14 ปี กำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 15 ก็จะมีการปรับปรุงพิกัดระบบฮาร์โมไนซ์ จาก HS 2002 ที่ใช้มาตั้งแต่ที่ความตกลงมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2551 เป็น HS 2017 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป โดยกรมการค้าต่างประเทศได้เตรียมความพร้อมรองรับการปรับปรุงพิกัดระบบฮาร์โมไนซ์ดังกล่าวของความตกลง AJCEP ไว้แล้วเช่นกัน ซึ่งในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2565 มีผู้ประกอบการยื่นขอออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form AJ เพื่อประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลง AJCEP อยู่ที่ 298.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 11.52% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (ที่มีการขอใช้สิทธิฯ 267.91 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ) โดยมีรายการสินค้าที่ใช้สิทธิฯ 5 อันดับแรก ได้แก่ แผ่นแถบทำด้วยอะลูมิเนียมเจือ กุ้งปรุงแต่ง ปลาแมคเคอเรลปรุงแต่ง ปลาซาร์ดีนปรุงแต่ง และขนมจำพวกเบเกอรี่

ทั้งนี้ความสำคัญของกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องของแต่ละ FTAs ที่เลือกใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเพื่อให้สามารถนำไปลดภาษีนำเข้า ณ ประเทศปลายทาง ลดต้นทุนทางการค้า และสร้างแต้มต่อในเวทีการค้าโลกได้ โดยสำหรับพิกัดระบบฮาร์โมไนซ์ (HS) ของความตกลง FTAs ผู้ประกอบการจะต้องใช้ฉบับปีที่ได้ตกลงร่วมกันไว้ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละ FTAs ในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) เพื่อไม่ให้เกิดการคลาดเคลื่อนของการพิจารณากฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดของสินค้านั้น ๆ

โดยในปี 2566 กรมการค้าต่างประเทศยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับ FTAs อีกหลายฉบับ เช่น ความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าของอาเซียน หรือ ATIGA และเจรจาเพื่อจัดทำ FTAs กับประเทศคู่ค้าใหม่ ๆ (อาเซียน-แคนาดา ไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) และไทย-ตุรกี) โดยมุ่งเน้นกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าที่สอดคล้องกับกระบวนการผลิตของไทยและแนวปฏิบัติที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์