ทีม BCC Robot กรุงเทพคริสเตียนฯ ชนะเลิศ โครงการซัมซุงปั้นนวัตกรรุ่นใหม่ 

16 ธ.ค. 2565 | 07:07 น.

ซัมซุงประกาศ ทีม BCC Robot กรุงเทพคริสเตียนฯ คว้ารางวัลชนะเลิศ Samsung Solve for Tomorrow โครงการปั้นนวัตกรรุ่นใหม่ ปีแรกในไทย พร้อมเดินหน้าจับมือ คณะวิศวะ จุฬาฯภาคีหลัก ผลักดันเยาวชนสร้างสรรค์ไอเดียด้านเทคโนโลยี, IOT, Design Thinking และ Innovation

“ปารมี ทองเจริญ” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า ซัมซุงจัดโครงการ Samsung Solve for Tomorrow ปั้นนวัตกรรุ่นใหม่ ในไทยเป็นปีแรก ซึ่งโครงการนี้เป็นการประกวดออกแบบนวัตกรรมระดับสากล ที่มีเยาวชนกว่าสองล้านคนจาก 35 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม

ทีม BCC Robot กรุงเทพคริสเตียนฯ ชนะเลิศ โครงการซัมซุงปั้นนวัตกรรุ่นใหม่ 

โดยซัมซุงได้ร่วมกับภาคีหลัก คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประกวดขึ้นในไทย ภายใต้หัวข้อ Innovation for Sustainable Communities, Good Health & Wellbeing และมีเยาวชนเข้าร่วมกว่า 308 ทีม 

“เป้าหมายของโครงการนี้ คือ การสร้างเยาวชนให้มีบทบาทในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยี, IOT, Design Thinking และ Innovation เพื่อพัฒนาและต่อยอดการดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่อย่างยั่งยืนและดียิ่งขึ้น”
 

ทีม BCC Robot กรุงเทพคริสเตียนฯ ชนะเลิศ โครงการซัมซุงปั้นนวัตกรรุ่นใหม่ 

ทีมที่คว้ารางวัลชนะเลิศในปีนี้ ได้แก่ ทีม BCC Robot จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โชว์ไอเดียนวัตกรรม Fitness Force รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีม ฝัน จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ด้วยนวัตกรรม DremIN และรางวัลรองชนะเลิศ อันดับสอง ได้แก่ ทีม Lunares จากโรงเรียนสาธิตการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ด้วยนวัตกรรม Cloud based TDS meter and TDS limiting system นอกจากเงินรางวัลแล้ว ซัมซุงยังมอบแท็บเล็ตให้กับสมาชิกทุกคนที่เข้าประกวดด้วย

ทีมชนะเลิศ BCC Robot จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ประกอบด้วย ณัทสกรรจ์ อัศวโรจน์พาณิช ทำหน้าที่ด้าน กราฟฟิก, AI,ข้อมูลด้านร้านค้า, กิตติธัช มานะจิตประเสริฐ ดูแลด้านซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่น, นิธิโชติ เสนอคำ และชวิศ อรรถสุขวัฒนา รับผิดชอบด้านฮาร์ดแวร์ นวัตกรรม Fitness Force เกี่ยวกับเครื่องออกกำลังพร้อมฟังก์ชันตรวจจับความเคลื่อนไหว โดยจะสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการออกกำลังกาย การคำนวณและให้ข้อมูลในด้านอาหารและการเผาผลาญพลังงานผ่านทางแอปพลิเคชัน โดยมีการเชื่อมรูปแบบการออกกำลังกายเข้ากับเกม เพื่อเป็นเป้าหมายในการออกกำลังกายที่สนุกยิ่งขึ้น และช่วยแก้ปัญหาของคนทำงานที่มักเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม ปวดเมื่อยตามร่างกาย
ทีม BCC Robot กรุงเทพคริสเตียนฯ ชนะเลิศ โครงการซัมซุงปั้นนวัตกรรุ่นใหม่   

ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หัวใจหลักของโครงการนี้ คือ การส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้ได้มากที่สุด เยาวชนที่ร่วมโครงการ จะได้นำความรู้ในเชิงทฤษฎีจากห้องเรียนมาผสมผสานกับแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์ชิ้นงาน และจุฬาฯ ยังได้เปิดช่องทางการรับเข้าเรียนแบบพอร์ตโฟลิโอสำหรับน้องๆ เหล่านี้ ที่สามารถทุ่มเท หาตัวตน หาแรงบันดาลใจของตัวเองให้เจอ เพื่อต่อยอดเส้นทางในการศึกษาต่อมหาวิทยาลัยได้ 

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,844 วันที่ 15 - 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565