โกลด์แมน แซคส์ คาดจีนเปิดประเทศ ช่วยหนุนจีดีพีไทยโต 2.9%

13 ธ.ค. 2565 | 03:35 น.

"โกลด์แมน แซคส์"คาดการณ์ การเปิดประเทศของจีน ช่วยหนุนจีดีพีไทยขยายตัว 2.9% ส่วนฮ่องกงและสิงคโปร์ ขยายตัว 7.6% และ 1.2% ตามลำดับ

ทีมนักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า การเปิดประเทศของจีน จะช่วยหนุนตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) ของประเทศไทยให้ขยายตัวราว 2.9%  ฮ่องกงขยายตัว 7.6% และสิงคโปร์ขยายตัว 1.2% โดยคาดว่า การที่จีนเปิดประเทศจะช่วยให้การส่งออกและรายได้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศเหล่านี้ฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง

 

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า การคาดการณ์ของโกลด์แมน แซคส์ ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า การเปิดประเทศของจีนจะช่วยหนุนอุปสงค์ภายในประเทศจีนให้ขยายตัว 5% และเป็นแรงผลักดันให้ทริปการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นสู่ระดับเดียวกับในปี 2562

 

การเปิดประเทศของจีนมีแนวโน้มที่จะสร้างผลกระทบในเชิงบวกต่อการเดินทางระหว่างประเทศมากที่สุด รองลงมา คือ ช่วยสนับสนุนตัวเลขการนำเข้าสินค้าให้ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง
 

โกลด์แมน แซคส์  ยังระบุด้วยว่า การใช้จ่ายด้านการเดินทางของไทยจะมีส่วนช่วยสนับสนุนตัวเลข GDP ในอัตราส่วน 3% และการใช้จ่ายด้านการเดินทางของฮ่องกงจะเป็นปัจจัยหนุนตัวเลข GDP ในอัตราส่วน 6%

 

ผลกระทบเชิงบวกเหล่านี้อาจจะแข็งแกร่งขึ้นอีก หากความต้องการการเดินทางของชาวจีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากที่รัฐบาลจีนได้สั่งปิดพรมแดนเป็นเวลานานถึง 3 ปี

 

นอกจากนี้ โกลด์แมน แซคส์ คาดว่า ความต้องการน้ำมันในจีนที่เพิ่มขึ้นหลังมีการเปิดประเทศนั้น จะเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งขึ้น 15 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันจะส่งผลกระทบด้านลบต่อบางประเทศ เช่นสิงคโปร์และฮ่องกง

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานก่อนหน้านี้ว่า ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์ แมนแซคส์ได้พยายามที่จะคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกไปจนถึงปี 2618 หรืออีก 53 ปีข้างหน้า
          

ทั้งนี้ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ ได้ออกรายงานที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากในการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวของประเทศในกลุ่ม BRIC ซึ่งประกอบด้วยบราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และจีน และในขณะนี้ ทีมนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งนำโดยนายแจน แฮตซิอุซ ก็ได้ขยายขอบเขตการคาดการณ์เศรษฐกิจให้ครอบคลุมถึง 104 ประเทศในช่วง 50 ปีข้างหน้า และได้สรุปการคาดการณ์ไว้ดังนี้
          

การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉลี่ยจะอยู่ต่ำกว่า 3% ต่อปีในช่วง 10 ปีข้างหน้า ลดลงจากระดับ 3.6% ในช่วง 10 ปีก่อนที่จะเกิดวิกฤตการเงินโลก และหลังจากนั้นคาดว่า แนวโน้มเศรษฐกิจจะอยู่ในทิศทางที่ชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะสะท้อนถึงการขยายตัวของกำลังแรงงานที่ชะลอลง
          

ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่จะยังคงปรับตัวตามกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ขณะที่จีน สหรัฐ อินเดีย อินโดนีเซีย และเยอรมนี จะผงาดขึ้นเป็นกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเมื่อวัดมูลค่าในรูปสกุลเงินดอลลาร์ ส่วนไนจีเรีย, ปากีสถาน และอียิปต์ ก็อาจจะติดกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดด้วยเช่นกัน
          

เศรษฐกิจสหรัฐไม่มีแนวโน้มที่จะหวนกลับไปแข็งแกร่งเหมือนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และคาดว่าความแข็งแกร่งอย่างมากของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะลดลงในช่วง 10 ปีข้างหน้า
          

ขณะที่ความไม่เท่าเทียมด้านรายได้ระหว่างประเทศต่าง ๆ ได้ลดน้อยลง แต่ความไม่เท่าเทียมดังกล่าวจะยังคงเพิ่มขึ้นภายในประเทศเหล่านั้น
          

นายเควิน ดาลี และนายทาดาส เกดมินาส นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ระบุว่า การกีดกันทางการค้า (Protectionism) และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญอย่างมากต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสมอภาคด้านรายได้
          

"การคาดการณ์ของเราแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจโลกได้ผ่านช่วงเวลาของการเติบโตสูงสุดไปแล้ว และการชะลอตัวส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากจำนวนประชากร โดยการขยายตัวของจำนวนประชากรทั่วโลกได้ลดลงครึ่งหนึ่งในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา" นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ ระบุ
          

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ยังกล่าวว่า จำนวนประชากรที่ชะลอการขยายตัวนั้น "ถือเป็นข่าวดีในข่าวร้าย" เนื่องจากจะทำให้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมลดน้อยลง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การลดลงของจำนวนประชากรจะส่งผลให้เศรษฐกิจเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ซึ่งรวมถึงการที่หลายประเทศอาจจะมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นสำหรับประชากรสูงวัย