จับมือปั้นสตาร์ทอัพ"Deep Tech"จากเทคโนโลยีดาราศาสตร์ชั้นสูง 

23 พ.ย. 2565 | 09:51 น.

มช.จับมือ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ ร่วมปั้นธุรกิจนวัตกรรม Deep Tech Startup สัญชาติไทย ด้วยองค์ความรู้เทคโนโลยีวิศวกรรมดาราศาสตร์ขั้นสูง  ตั้งเป้าเกิด 10 โปรเจ็ก เกิดธุรกิจ 5 กิจการ สร้างมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท ใน 5 ปี 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 ที่อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) โดย ศ.ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มช.  กับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. (NARIT) โดยดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการ สดร.

 

ในการร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ด้านการวิจัย วิชาการ การพัฒนา และต่อยอดเทคโนโลยีทางดาราศาสตร์ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ พร้อมบ่มเพาะเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งสตาร์ทอัพ 

จับมือปั้นสตาร์ทอัพ"Deep Tech"จากเทคโนโลยีดาราศาสตร์ชั้นสูง 

จับมือปั้นสตาร์ทอัพ"Deep Tech"จากเทคโนโลยีดาราศาสตร์ชั้นสูง 

ศ.ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ กล่าวว่า มช.เป็นสถาบันการศึกษาที่พร้อมร่วมวิจัย พัฒนา และต่อยอดเทคโนโลยีขั้นสูง ที่ทาง สดร. ได้สั่งสมมา เพื่อสร้างนวัตกรรม นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และสร้างคุณค่าในเชิงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดย มช. มีกลยุทธ์นวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation)

 

ซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือ ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ร่วมกับพันธมิตรที่มีศักยภาพสูงทั่วโลก ทั้งมีกลไกสนับสนุนสำคัญ คือ บริษัท อ่างแก้วโฮลดิ้ง จำกัด ที่ช่วยสร้างมูลค่าให้แก่ทรัพย์สินทางปัญญา ที่เกิดจากการต่อยอดงานวิจัยเทคโนโลยีเป็นนวัตกรรม ให้สามารถขยายสู่เชิงธุรกิจ ให้เป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนและอุตสาหกรรม  

จับมือปั้นสตาร์ทอัพ"Deep Tech"จากเทคโนโลยีดาราศาสตร์ชั้นสูง 

จับมือปั้นสตาร์ทอัพ"Deep Tech"จากเทคโนโลยีดาราศาสตร์ชั้นสูง 

รวมทั้งยังมีอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ที่การันตีด้วยรางวัลหน่วยบ่มเพาะธุรกิจดีเด่นระดับเอเชีย ที่พร้อมให้การสนับสนุนความร่วมมือดังกล่าวนี้อย่างเต็มกำลัง ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการบ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรม และการปั้นสตาร์ทอัพจากเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech Startup) ภายใต้ระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ของอุทยานฯ ในฐานะแม่ข่ายดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ    

 

ด้านดร. ศรัณย์ ผู้อำนวยการ สดร. กล่าวว่า ปัจจุบัน สดร. มีบทบาทสำคัญ ในการสร้างงานวิจัยระดับแนวหน้าด้านดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์อวกาศ และวิทยาศาสตร์บรรยากาศ ผลักดันการใช้โจทย์วิจัยแนวหน้า ในการพัฒนาเทคโนโลยีและเทคนิควิศวกรรมขั้นสูง รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี ไปสู่ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และการใช้งานเชิงพาณิชย์ นอกเหนือไปจากการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ถ่ายทอดองค์ความรู้ บริการวิชาการ และสื่อสารดาราศาสตร์สู่สังคม

จับมือปั้นสตาร์ทอัพ"Deep Tech"จากเทคโนโลยีดาราศาสตร์ชั้นสูง 

งานวิจัยดาราศาสตร์มีความท้าทายเฉพาะตัว เนื่องจากต้องศึกษาวัตถุที่อยู่ไกล และมีสัญญาณต่ำมาก ๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง ที่เกินกว่าโจทย์ของภาคอุตสาหกรรม แต่ถูกผลักดันให้เกิดขึ้นด้วยโจทย์ทางดาราศาสตร์ องค์ความรู้จากการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมที่ซับซ้อนที่สุด บ่มเพาะให้เกิดความเชี่ยวชาญของวิศวกรและช่างเทคนิค ต่อยอดไปสู่งานในสาขาอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใข้ทักษะและความเชี่ยวชาญชั้นสูง 

 

ด้วยประสบการณ์ในการสร้างและพัฒนาอุปกรณ์ สำหรับงานวิจัยดาราศาสตร์มากว่า 10 ปี ปัจจุบัน สดร. มีห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีและวิศวกรรม 5 ด้าน ภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เกิดนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรมหลายชิ้นงาน ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก อาทิ ระบบควบคุมกล้องโทรทรรศน์ อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศ อุปกรณ์ทางทัศนศาสตร์ อีวาเนสเชนต์ เวฟ โคโรนากราฟ การขึ้นรูปและผลิตชิ้นงานความละเอียดสูง / อุปกรณ์รับสัญญาณคลื่นความถี่วิทยุ สำหรับกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติในย่านความถี่ต่าง ๆ เครื่องช่วยหายใจต้นแบบ และนวัตกรรมกายอุปกรณ์เพื่อผู้พิการ เช่น ข้อสะโพกเทียม แขนเทียมกล ขาเทียมเหนือเข่าอัจฉริยะ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ สดร. ยังได้รับการสนับสนุน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดตั้ง ASTRO Fabrication Laboratory หรือ "AstroFab" เปิดเป็นพื้นที่ส่งเสริมนวัตกรรม บ่มเพาะผู้ประกอบการ และสตาร์ทอัพ ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงลึก และให้คำปรึกษาโดยบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญของ สดร. รวมถึงสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือด้านเทคโนโลยีขั้นสูงอันทันสมัย สู่การสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีต้นแบบ

จับมือปั้นสตาร์ทอัพ"Deep Tech"จากเทคโนโลยีดาราศาสตร์ชั้นสูง 

ในการนี้ มช. และ สดร. จึงประสงค์ร่วมกัน ที่จะส่งเสริม สนับสนุน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัย วิชาการ การพัฒนา และต่อยอดนวัตกรรม รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี และวิศวกรรมขั้นสูง เพื่อใช้ประโยชน์และสร้างคุณค่าเชิงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดยมีขอบเขตความร่วมมือด้านการวิจัย การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ  ยกระดับทักษะความเชี่ยวชาญของบุคลากร ร่วมกันนำงานวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ทั้งในรูปแบบของการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และการจัดตั้งสตาร์ทอัพ การขอรับการสนับสนุน ต่อยอดการวิจัย จากแหล่งทุนต่าง ๆ รวมถึงร่วมกันจัดตั้งนิติบุคคลจากผลงานทั้งสองฝ่าย

 

การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างช่องทางส่งผ่านองค์ความรู้ งานวิจัย และเทคโนโลยีเหล่านั้น ไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่มีอยู่ ไปต่อยอดร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรมให้เกิดการใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนการขอรับการสนับสนุนต่อยอดการวิจัย จากแหล่งทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสร้างโอกาสในการจัดตั้งสตาร์ทอัพจากเทคโนโลยีขั้นสูง 

 

 โดยร่วมกันจัดตั้งนิติบุคคลจากทรัพย์สินทางปัญญาของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะต่อยอดไปสู่การลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ เกิดการลงทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ภายใต้วงล้อความสัมพันธ์ระหว่างงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง กับบริษัทสตาร์ทอัพต่าง ๆ 

 

ในระยะเริ่มต้นมุ่งหวังให้เกิดโมเดลในลักษณะดังกล่าวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และขับเคลื่อนไปได้ก่อนเป็นอันดับแรก นับเป็นความท้าทายในการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี วิศวกรรมจากวงการดาราศาสตร์มาใช้กับอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนวิศวกรรมที่มีความแม่นยำสูง อุตสาหกรรมการแพทย์ และการต่อยอดการใช้งานกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งอนาคตต่อไป โดยหวังว่าจากความร่วมมือในครั้งนี้จะเกิดสตาร์ทอัพหน้าใหม่ ในสาย Deep Tech Startup สัญชาติไทยเพิ่มขึ้น ทั้งยังสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

 

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ และรักษาการผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า  ในการต่อยอดเทคโนโลยีเชิงลึกไปสู่การสร้างสตาร์ทอัพ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) มีกลไกสนับสนุน ตั้งแต่การบ่มเพาะเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep-tech Incubation) ให้พร้อมต่อการใช้งานในอุตสาหกรรม เมื่อเทคโนโลยีมีความพร้อม การผลักดันออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์สามารถต่อยอดไปได้อย่างน้อย 2 ทาง 

 

ทางแรกคือ การสร้างมูลค่าจากทรัพย์สินทางปัญญา ด้วยการถ่ายทอดและการอนุญาตให้ใช้สิทธิในเทคโนโลยี (Technology Licensing) ส่วนอีกทางคือ การจัดตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพจากเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งจะนำไปสู่การเข้าโปรแกรมบ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรม (Tech Business Incubation) หรือ Basecamp24 ของอุทยานฯ โดยการต่อยอดธุรกิจนวัตกรรมทั้ง 2 ทางนี้ มีบริษัท อ่างแก้ว โฮลดิ้ง จำกัด ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

ความร่วมมือในครั้งนี้คาดว่าได้ทำงานเรื่องของการร่วมพัฒนาเทคโนโลยี สู่การใช้งานจริงอย่างน้อย 10 โปรเจ็ค และหวังว่าจะต้องเกิดประมาณ 5 บริษัท มูลค่าธุรกิจรวมต้องไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท ภายในเวลา 5 ปี กับการเอาเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น จากการผสมองค์ความรู้แล้วมาทำเป็นธุรกิจ มาทำเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ