ฟุตบอลโลก 2022 ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด 1,600 ล้าน ใช้ทำโครงการอะไรได้

10 พ.ย. 2565 | 02:16 น.

ฟุตบอลโลก 2022 ได้ข้อสรุปค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด 1,600 ล้านแล้ว หลัง กสทช. จัดงบช่วยส่วนหนึ่ง 600 ล้าน ลองไปดูกันว่างบถ่ายทอดสดทั้งหมดหากเอามาทำโครงการรัฐจะได้อะไรบ้าง

ฟุตบอลโลก 2022 (FIFA World Cup Final) ฉบับกาตาร์ เตรียมจะฟาดแข้งกันกันตามโปรแกรม ในระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน -18 ธันวาคม 2565 แต่โดยที่ผ่านมาประเทศไทยยังคงติดปัญหา โดยถือเป็นหนึ่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน ที่ยังไม่มีลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022

 

ล่าสุดในการผลักดันเรื่องนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้พิจารณาข้อเสนอของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งจัดทำข้อเสนอมาถึง บอร์ด กสทช. เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย เป็นหนึ่งในของขวัญให้กับแฟนบอลชาวไทย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ภาพประกอบข่าวค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022

ตามข้อเสนอมีการขอเป็นค่าซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รวมภาษี มูลค่า 42 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,600 ล้านบาท โดย บอร์ด กสทช. ได้โหวตลงมติด้วยคะแนน 4:2 ไฟเขียวการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ด้วยวงเงิน 600 ล้านบาท  

 

โดยใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งถือเป็นวงเงินส่วนหนึ่ง เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ทั้ง 64 นัด ผ่านฟรีทีวีทุกแพลตฟอร์ม 

 

อย่างไรก็ตามในวงเงินดังกล่าว แน่นอนว่าเป็นวงเงินที่ไม่ใช่น้อย ๆ และสามารถนำไปใช้ทำอย่างอื่นได้สารพัด ฐานเศรษฐกิจ จึงรวบรวมตัวอย่างเปรียบเทียบชัด ๆ สำหรับวงเงินในการขอซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รวมทั้งสิ้นกว่า 1,600 ล้านบาท 

 

หากนำไปใช้ในโครงการลงทุนของรัฐ หรือการเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือเป็นการเพิ่มเบี้ยให้กับผู้สูงอายุ ด้วยเงินก้อนนี้จะนำไปใช้ทำอะไรได้มากแค่ไหน

 

ภาพประกอบข่าวค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022

1.สร้างถนนระดับดิน ขนาด 2 ช่องจราจรมาตรฐานกรมทางหลวง

  • วงเงินการก่อสร้างประมาณ 40 ล้านบาท ต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร  
  • หากใช้เงิน 1,600 ล้านบาท จะสร้างถนนได้ยาว 40 กิโลเมตร

 

2.สร้างรถไฟฟ้า

  • การก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีชมพูและสายสีเหลือง พบว่าใช้เงินลงทุนเฉลี่ยกิโลเมตรละ 1,622 ล้านบาท (ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ 20 กันยายน 2565)
  • หากใช้เงิน 1,600 ล้านบาท จะสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรล ได้ประมาณ 1 กิโลเมตร

 

3.ซื้อรถเมล์ EV ให้บริการประชาชน

  • ราคารถเมล์ EV นำเข้าประมาณ 10-12 ล้านบาท
  • หากใช้เงิน 1,600 ล้านบาท จะซื้อรถเมล์ EV ประมาณ 133-160 คัน

 

4.สร้างสถานีชาร์จรถยนต์ EV 

  • กฟผ. ระบุใช้เงินลงทุนติดตั้งเครื่องชาร์จ 1 เครื่อง พร้อมที่จอดรถ ประมาณ 2-3 ล้านบาท
  • หากใช้เงิน 1,600 ล้านบาท จะสร้างที่ชาร์จได้ประมาณ 530 เครื่อง

 

5.เยียวยาน้ำท่วม

  • สูงสุดครัวเรือนละ 7,000 บาท
  • หากใช้เงิน 1,600 ล้านบาท จะช่วยเหลือได้ประมาณ 2.2 แสนครัวเรือน 

 

ภาพประกอบข่าวค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022

 

6.ช่วยชาวนา

  • จ่ายเงินช่วยไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ 
  • หากใช้เงิน 1,600 ล้านบาท จะจ่ายเงินช่วยชาวนาได้ประมาณ 8 หมื่นครัวเรือน

 

7.ค่าอาหารกลางวันเด็ก

  • อัตราเฉลี่ย 24 บาทต่อคนต่อวัน 
  • รวมวงเงินงบประมาณที่ใช้ 28,365 ล้านบาทต่อปี ต่อนักเรียน 5.9 ล้านคนทุกขนาดโรงเรียน คิดเป็นค่าใช้จ่ายรวมประมาณวันละ 142 ล้านบาท (นับเฉพาะวันที่มีการเรียนการสอน 200 วัน)
  • หากใช้เงิน 1,600 ล้านบาท จะช่วยค่าอาหารกลางวันเด็กทั่วประเทศได้ประมาณ 11 วัน

 

8.เพิ่มเบี้ยยังชีพพิเศษ

  • มาตรการช่วยเหลือพิเศษผู้สูงอายุ 10.95 ล้านคน เพื่อบรรเทาผลกระทบเศรษฐกิจ
  • เฉลี่ยรายละ 100-250 บาทต่อคนต่อเดือน
  • หากใช้เงิน 1,600 ล้านบาท จะสามารถเพิ่มเบี้ยยังชีพพิเศษได้อย่างน้อย 1 เดือน

 

9.คนละครึ่ง

  • คนละครึ่ง เฟส 5 ได้รับวงเงินคนละ 800 บาท
  • หากใช้เงิน 1,600 ล้านบาท จะทำคนละครึ่งได้อีก 2 ล้านคน

 

10.ตรึงราคาดีเซล

  • กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใช้เงินอุดหนุนราคาดีเซลลิตรละ 10 บาท วันละ 600 ล้านบาท
  • หากใช้เงิน 1,600 ล้านบาท จะอุดหนุนราคาดีเซลได้ประมาณ 3 วัน

 

 ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก  1,600 ล้าน ใช้ทำโครงการอะไรได้