ดับฝันชาวกรุง เบรกสร้าง ‘รถไฟฟ้าสายสีเทา’ 2.7 หมื่นล้าน

19 ต.ค. 2565 | 05:54 น.

กทม.พับแผนสร้าง “รถไฟฟ้าสายสีเทา” 2.7 หมื่นล้านบาท หลัง “ชัชชาติ” ผู้ว่ากทม.สั่งเบรก ลุยนโยบายเส้น เลือดฝอย เล็งส่งไม้ต่อ ดึงรฟม.ต่อยอดโครงการฯ พัฒนาระบบขนส่งทางราง

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้จัดสัมมนาสรุปผลการศึกษา (ปัจฉิมนิเทศ ) โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ เฟสแรกวงเงินลงทุน 27,884 ล้านบาท ระยะทาง 16.3 กิโลเมตร  เพื่อเสนอผลการ ศึกษาข้อมูลด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์การเงิน สิ่งแวดล้อม รวมถึงรูปแบบความเหมาะสมด้านการลงทุนโครงการ ต่อนายชัชชาติ สิทธิ์พันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพ มหานคร หากผ่านความเห็นชอบ  จะเสนอต่อกระทรวงมหาดไทย  คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการภายในปี 2566  

 

 

 

ขณะขั้นตอนการจัดทำเอกสารร่วมลงทุนและคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ปี 2567-2568  ลงมือก่อสร้างปี 2569 เปิดบริการเดินรถปี 2573 ช่วยขยายการเดินทางระบบรางเชื่อมโยงเส้นทางสายหลักต่อไป แต่ล่าสุดกลับมีแนวโน้มว่า นายชัชชาติ มีแผน มอบรถไฟฟ้าสายสีเทาให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศ ไทย (รฟม.) ดูแล เพื่อความคล่องตัวไม่ให้ซํ้ารอยรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้งนี้รถไฟฟ้าสายสีเทาหากอยู่ในความดูแลของกทม.จะเป็นรถ ไฟฟ้าสายที่ 3 ต่อจากสายสีทองซึ่งเปิดให้บริการย่านคลองสาน ฝั่งธนบุรีไปก่อนหน้านี้ 
 

รายงานข่าวจากกรุงเทพ มหานคร (กทม.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันทาง กทม.ต้องชะลอรถไฟฟ้าสายสีเทา ออกไปก่อน เนื่องจากนายชัชชาติ  มีนโยบายให้กทม.มุ่งเน้นดำเนินการนโยบายเส้นเลือดฝอยเป็นหลัก  โดยไม่มีนโยบายดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ในช่วงนี้ เนื่องจากโครงการฯมีมูลค่าการลงทุนค่อนข้างสูง ทำให้กทม.มีแนวคิดจะนำรถไฟฟ้าสายสีเทา ส่งมอบให้รฟม.ดำเนินการพัฒนาและบริหารจัดการแทน 

 

 

 

ย้อนดูผลศึกษา รถไฟฟ้า สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ  มูลค่าการลงทุน 27,884 ล้านบาทเป็นโครงการระยะแรก แบ่งเป็น ค่าตอบแทนและชดเชยการใช้ ที่ดิน 2,052 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 23,101 ล้านบาท ค่างานระบบรถไฟฟ้า 5,277 ล้านบาท ค่างานจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า 3,300 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อม 100 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้าง 841 ล้านบาท ค่าออกแบบ 462 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายสำรอง (Provisional Sum)  รวมภาษี 1,328 ล้านบาท

 

ดับฝันชาวกรุง เบรกสร้าง ‘รถไฟฟ้าสายสีเทา’ 2.7 หมื่นล้าน


ใช้รูปแบบ PPP Net Cost เอกชนเป็นผู้รับความเสี่ยงด้านรายได้ และเป็นผู้จ่ายค่าสัมปทานหรือส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ภาครัฐ ระยะเวลาสัญญาสัมปทาน 30 ปี ด้านการเวนคืนที่ดินของโครงการฯ เบื้องต้นจากผลการศึกษาของกทม.จะดำเนินการขอใช้พื้นที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เนื่องจากแนวเส้นทางของโครงการฯอยู่บนถนนประดิษฐ์มนูธรรม ส่วนรายงานการประเมินผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565
 

แนวเส้นทางเริ่มจากทางเชื่อมระหว่างถนนรามอินทรากับถนนประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่สถานีวัชรพล จากนั้นมุ่งหน้าลงมาทางทิศใต้ตามถนนประดิษฐ์มนูธรรมฝั่งทิศทางขาออก โดยวางโครงสร้างบนทางเท้าและทางจักรยานข้ามถนนประเสริฐมนูกิจ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาลที่สถานีคลองลำเจียก นอกจากนี้ยังมุ่งหน้าลงทางทิศใต้ ข้ามถนนลาดพร้าว เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่สถานีฉลองรัชผ่านถนนประชาอุทิศ และข้ามทางพิเศษศรีรัชที่แยกพระราม 9- ประดิษฐ์มนูธรรม เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มที่สถานีพระราม 9 จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวที่แยกเอกมัยเหนือมาทางทิศตะวันตกเข้าสู่แนวเกาะกลางของถนนเพชรบุรีตัดใหม่ และเลี้ยวลงมาทางทิศใต้เข้าสู่ถนนทองหล่อ จนกระทั่งมาสิ้นสุดเส้นทางที่บริเวณปากซอยสุขุมวิท 55 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีทองหล่อ

 

 

 


โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล- ทองหล่อ ระยะที่ 2 ช่วงพระโขนง- พระราม 3 และระยะที่ 3 ช่วงส่วนต่อขยายพระราม 3-ท่าพระ รวมระยะทางทั้งสิ้น 39.91 กิโลเมตร เป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว มีระบบควบ คุมการเดินรถอัตโนมัติ ความเร็วเฉลี่ยในการเดินรถ 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางไป-กลับ 62 นาที สามารถรองรับผู้โดยสารประมาณ 8,000-20,000 คนต่อชั่วโมง โดยจากการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร จะมีประชาชนเข้ามาใช้บริการในปี 2573 ซึ่งเป็นปีที่เปิดให้บริการ จำนวน 97,000 คน-เที่ยวต่อวัน