วิบากกรรม "ธุรกิจโรงแรมไทย"ต้นทุนพุ่งซํ้าเติมโควิด-19

18 เม.ย. 2565 | 05:58 น.

“โอมิครอน” ธุรกิจโรงแรมไทย มองว่าไม่ได้กระทบรุนแรงกว่าระลอกเดลต้า แต่วันนี้สิ่งที่ธุรกิจได้รับผลกระทบหลักกลับกลายเป็นเรื่องของผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบและราคาสินค้าที่สูงขึ้น ที่ซ้ำเติมธุรกิจโรงแรมอย่างหนักในขณะนี้

การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” ธุรกิจโรงแรมมองว่าไม่ได้กระทบรุนแรงกว่าระลอกเดลต้า แม้จะเกิดการแพร่ระบาดที่รุนแรงกว่า และมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น แต่วันนี้สิ่งที่ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบหลักกลับกลายเป็นเรื่องของผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบและราคาสินค้าที่สูงขึ้น ส่งผลให้คนปรับลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวและทำกิจกรรมนอกบ้านลดลง และที่สำคัญคือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

 

ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมออกมาประสานเสียงว่าหากรัฐบาลยังคิดอัตราการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 100% ประเมินตามมูลค่าที่ดินและสินทรัพย์ โดยไม่ได้นำการขาดรายได้ของธุรกิจโรงแรมมาร่วมพิจารณา จะทำให้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกลายเป็นต้นทุนก้อนใหญ่ของธุรกิจโรงแรม สวนทางกับธุรกิจโรงแรมที่ยังขาดสภาพคล่องจากโควิด-19 ซึ่งจากผลสำรวจของสมาชิกสมาคมโรงแรมไทย พบว่า ปัจจุบันโรงแรมส่วนใหญ่ยังมีอัตราการเข้าพักที่ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน เนื่องจากโรงแรมส่วนใหญ่ยังรับลูกค้าชาวไทยเป็นหลัก

 

วัดได้จากอัตราการเข้าพักเฉลี่ยล่าสุดเมื่อเดือนมี.ค. 65 ซึ่งภาพรวม ทั้งประเทศอยู่ที่ 33% ใกล้เคียงกับเดือนก.พ. 65 ที่อยู่ที่ 33% โดยกว่า 65% เป็นนักท่องเที่ยวไทย และท่องเที่ยวต่างชาติ อยู่ที่ 47% ซึ่งส่วนใหญ่นัก ท่องเที่ยวจากยุโรปตะวันตก และเอเชียเป็นหลัก ขณะที่ตลาดรัสเซีย และยุโรปตะวันออกมีสัดส่วนลดลงเกือบครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับเดือนก่อน จากผลกระทบความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเป็นสำคัญ และโรงแรมเกือบครึ่งหนึ่งยังมีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติน้อยกว่า 10% แม้มีการผ่อนคลายมาตรการ Test & Go ในเดือน มี.ค. 65

 

วิบากกรรม "ธุรกิจโรงแรมไทย"ต้นทุนพุ่งซํ้าเติมโควิด-19

 

ขณะที่สภาพคล่องของธุรกิจโรงแรม ในเดือนมี.ค. 2565 ยังพบว่าโรงแรมกว่า 39% มีสภาพคล่องลดลงจากเดือน ก.พ. 65 และ 44% มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน โดยมีสัดส่วนของกลุ่มที่มีสภาพคล่องน้อยกว่า 1 เดือนอยู่เพียง 10% ลดลงจากเดือนก่อน ขณะที่มีโรงแรมที่สภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน มีเพียง 27% โดยส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่มีอัตราการเข้าพักมากกว่า 40% และมีลูกค้าหลักเป็นชาวต่างชาติ

นอกจากนี้ธุรกิจยังต้องมีภาระต้นทุนด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น และบางส่วนเป็นผลกระทบจาก วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน โดยความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผล กระทบให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ชะลอการเดินทางเป็นหลัก โดยโรงแรมกว่า 90% พบว่าลูกค้ารัสเซียยกเลิกการจองห้องพัก ซึ่งคิดเป็นการยกเลิกการจองน้อยกว่า 25% ของยอดจองทั้งหมด  รวมถึงปัญหาการทำธุรกรรมทางการเงิน ขณะที่บางส่วนได้รับผลกระทบส่งผ่านต้นทุนวัตถุดิบ ราคาสินค้าที่สูงขึ้นและการปิดเส้นทางบิน

 

ทั้งนี้ยังคงต้องเกาะติดสถานการณ์ เพราะล่าสุดมีข่าวว่ารัสเซีย เตรียมจะเปิดเส้นทางบินสำหรับ 52 ประเทศที่เป็นพันธมิตรของรัสเซีย กลับมาทำการบินได้อีกครั้ง หลังจากที่มี การสั่งปิดไปก่อนหน้านี้ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า โรงแรมส่วนใหญ่ยังต้องการมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐอยู่ โดยสิ่งที่ต้องการมากที่สุด คือ ขอสนับสนุนค่าจ้างพนักงานเดิม (Co-payment) ที่ก็เรียกร้องมานานแต่ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณา มาตรการลดค่าสาธารณูปโภคโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และให้พักชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

 

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี

 

รวมไปถึงเร่งรัดเบิกจ่ายเงินโครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน" ในส่วนของภาครัฐที่ยังค้างและยอดใหม่ให้โรงแรมเร็วขึ้น รวมถึงลดข้อจำกัดในการเปิดประเทศ นอกจากนี้อยากให้ภาครัฐมีเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการ สำหรับกิจการที่ต้องปิดชั่วคราวจากโควิด และอยากให้ธนาคารของรัฐช่วยรับโอนสินเชื่อของโรงแรมที่รับผลกระทบไปพักหนี้ไว้ 3-5 ปี โดยใช้เงินสนับสนุนจากภาครัฐ

 

อย่างไรก็ดีปัจจัยหลักจะทำให้เศรษฐกิจท่องเที่ยวพลิกฟื้นในปี 2565 คือ การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ นี่เองจึงทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ต่างออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลปลดล็อกผ่อนคลายมาตรการการเดินทางอย่างเร็วที่สุด เพื่อลดการสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว และยังเป็นการเพิ่มโอกาสการแข่งขันของประเทศไทยซึ่งรูปแบบมาตรการที่เหมาะสมที่สุดในเวลานี้คือ ตรวจ ATK ครั้งเดียวในวันที่เดินทางมาถึงประเทศไทย หากผลเป็นลบก็สามารถไปเที่ยวได้ทุกๆ ที่ หากมีผล เป็นบวกก็ส่งรักษาตามกระบวนการ 

 

การยกเลิก "ไทยแลนด์พาส" (Thailand Pass) รวมถึงประกันภัยเพื่อคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล จากการติดเชื้อโควิด-19 โดยเร็ว  เพราะวันนี้ไทยยังมีมาตรการการรับนักท่องเที่ยวที่เข้มข้น เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียนปรับลดมาตรการควบคุมการเดินทาง ขณะที่กลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรปมีแนวโน้มยกเลิกมาตรการควบคุมที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ก็จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเลือกไปท่องเที่ยวที่อื่นแทนจะส่งผลต่อรายได้ ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสแข่งขันจากการท่องเที่ยว

 

อีกทั้งจากสถานการณ์เงินเฟ้อ ในไทยและหลายประเทศทั่วโลก ที่มีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้น ประกอบกับเหตุการณ์ความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคานํ้ามันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่ม ผู้ประกอบการเตรียมปรับราคาสินค้าและบริการ อาจบั่นทอนกำลังซื้อและทำให้การบริโภคของผู้มีรายได้ในแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน นักท่องเที่ยวอาจชลอการเดินทางจากต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงขึ้นและหากแนวโน้มความขัดแย้งยืดเยื้อจะส่งผลทางตรงต่อนักท่องเที่ยวรัสเซียที่เดินทางมาประเทศไทยในช่วงที่เหลือของปี ภาคธุรกิจโรงแรมยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องนั่นเอง