รฟท.ครบรอบ 125 ปีจัดเดินรถ "ขบวนรถจักรไอน้ำพิเศษ" กรุงเทพ – อยุธยา

26 มี.ค. 2565 | 10:21 น.

รฟท.จัดเดินรถ "ขบวนรถจักรไอน้ำพิเศษ" เส้นทางประวัติศาสตร์ กรุงเทพ – อยุธยา เนื่องในโอกาสวันคล้าย วันสถาปนากิจการรถไฟครบรอบ 125 ปี

การรถไฟแห่งประเทศไทยได้นำขบวนรถจักรไอน้ำประวัติศาสตร์แบบแปซิฟิค หมายเลข 824 และ 850 รุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเปิดให้บริการเดินรถขบวนพิเศษ ผ่านเส้นทางประวัติศาสตร์กรุงเทพถึงพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 26 มีนาคม เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระองค์ท่านทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนากิจการการรถไฟ

 

นายธวัช ยิ้มศิริ นายสถานีรถไฟอยุธยา เปิดเผยว่า เส้นทางการเดินรถของรถไฟขบวนพิเศษ กรุงเทพ –อยุธยา – กรุงเทพ ขบวนที่ 901/902 ออกจากสถานีกรุงเทพ เวลา 08.10 น. ถึงสถานีอยุธยา เวลา 10.15 น. ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชมสถานที่สำคัญของจังหวัด ประมาณ 6 ชั่วโมง ส่วนเที่ยวกลับจะออกจากสถานีอยุธยา เวลา 16.40 น. ถึงกรุงเทพเวลา 18.45 น.

อย่างไรก็ตามรถไฟขบวนพิเศษที่ใช้รถจักรไอน้ำรุ่นใน 1 ปี จะมีการเดินรถขบวนพิเศษในเส้นทางกรุงเทพ-อยุธยา กรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพ-นครปฐม จำนวน 6 ครั้ง ได้แก่

  • วันที่ 26 มีนาคม วันสถาปนากิจการรถไฟ(หรือวันหยุดที่ใกล้เคียง)   
  • วันที่ 3 มิถุนายน วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี
  • วันที่ 28 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร 
  • วันที่ 12 สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ
  • วันที่ 23 ตุลาคม วันปิยมหาราช 
  • วันที่ 5 ธันวาคมวันพ่อแห่งชาติ

 

โดยปกหากไม่มีการเดินรถขบวนพิเศษ รถจักรไปน้ำจะถูกจัดเก็บที่โรงรถจักรธนบุรี สถานีรถไฟเก่าแก่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งธนบุรี ซึ่งปัจุบันเหลือเพียง 5 คัน เท่านั้น

 

สำหรับรถจักรไอน้ำที่นำมาใช้ในประเทศไทยเป็นคันแรก คือ รถจักรไอน้ำที่ใช้ในทางสาย กรุงเทพฯ-ปากน้ำ ซึ่งเป็นทางรถไฟราษฎร์สายแรก ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมา

 

ซึ่งเป็นทางรถไฟของรัฐสายแรกขึ้น กรมรถไฟในสมัยนั้น ได้นำเอารถจักรไอน้ำมาใช้ โดยนำมาใช้ในการก่อสร้างทางรถไฟ ลากจูงขบวนรถ ขนส่งสินค้า และคนโดยสาร



รถจักรไอน้ำที่นำมาใช้ในตอนแรกๆ นั้น เป็นรถจักรแบบมีถังน้ำและที่เก็บเชื้อเพลิงในตัว ต่อมาได้วิวัฒนาการขึ้น เป็นแบบที่มีรถลำเลียงพ่วง รถลำเลียงนี้มีไว้บรรทุก เชื้อเพลิงและน้ำเพื่อใช้การในขณะที่รถจักรทำการลากจูงขบวนในระยะทางหนึ่ง