หวั่นดีลควบรวม ซีพี -โลตัส ฆ่าSME ตายเรียบ

18 มี.ค. 2565 | 11:49 น.

คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตั้งข้อสังเกตุการควบรวมกิจการการค้าปลีก - ค้าส่ง ระหว่าง ซีพี- โลตัส มีอำนาจเหนือตลาด กระทบSMEทุนน้อยตายเรียบ-ผู้บริโภคอาจต้องซื้อของแพงขึ้น แนะแก้กฏหมายปิดช่องไม่เป็นธรรมทางการค้า

ศ.กนก วงษ์ตระหง่าน กรรมาธิการ เปิดเผยว่ากรณีการควบรวมกิจการการค้าปลีก - ค้าส่งระหว่างซีพีและโลตัส ว่าการควบรวมครั้งนี้จะทำให้ซีพีมีทั้งธุรกิจค้าส่งคือแมคโคร และธุรกิจค้าปลีกคือร้านเซเว่น อีเลฟเว่นและโลตัส ในมือ  ซึ่งการพิจาราณาอนุมัติให้ควบรวมดังกล่าวเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า 7 ท่านและเป็นการพิจารณาในมิติของกฎหมายเท่านั้น แต่ไม่ได้พิจราณาในแง่ของพฤติกรรม

โดยคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าพิจารณาว่ามีความจำเป็นให้ซีพีเข้าซื้อโลตัส เพราะโลตัสต้องการที่จะยุติการทำธุรกิจในประเทศไทยโดยขายกิจการในประเทศไทย หากไม่มีคนเข้ามาซื้อกิจการอาจทำให้เกิดปัญหาคนตกงานจำนวนมาก แต่กลับไม่ได้มองถึงประเด็นการมีอำนาจเหนือตลาด และผลกระทบต่อประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง SME และประชาชนผู้บริโภค

“เรามีข้อสังเกตชัดเจนคือคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าทั้ง 7 ท่านให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมในการแข่งขันน้อยเกินไป ท่านคิดแต่ว่าเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมที่จะเติบโต แต่เรื่องอื่นมีน้ำหนักน้อยโดยเฉพาะเรื่อง อำนาจเหนือตลาด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ กฎหมายกับดุลพินิจของการใช้กฎหมายเป็นจุดที่คณะกรรมการของเรามีคำถามมากมายยกตัวอย่างเช่นในเงื่อนไข 7 ข้อ หนึ่งในนั้นพูดถึงเรื่องของ SME ว่าจะต้องส่งเสริมให้เติบโตได้ 10% ทุกปี 

 

ซึ่งถ้ามองโดยผิวเผินก็ดูดีแต่ในเชิงพฤติกรรม สมมุติว่ามี SME 200 ราย ในจำนวนนี้ 50 รายส่งสินค้ามาขายสินค้าในร้านเซเว่นฯ และมี 45 รายจาก 50รายต้องออกไปจากเซเว่น เพราะยอดขายมีปัญหา จุดที่เราต้องการชี้ให้เห็นชัดเจนว่าเงื่อนไขมันมีช่องว่างที่จะเกิดอำนาจเหนือตลาดและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมขึ้นได้”

 

หนึ่งในเงื่อนไข 7 ข้อที่ต้องปฏิบัติตามหลังการควบรวมกิจการระบุว่าห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจและผู้ประกอบธุรกิจที่มีสถานะเสมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกัน กระทำการรวมธุรกิจกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นในตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นระยะเวลา 3 ปี ทั้งนี้ไม่รวมถึงตลาดอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ซึ่งระยะเวลาห้ามน้อยเกินไปควรเป็น 20 ปีหรือห้ามควบรวมไปเลย 

 

และการไม่รวมตลาดอีคอมเมิร์ซก็ไม่ควรเช่นกันเพราะทิศทางในอนาคตเป็นตลาดออนไลน์ ซึ่งในต่างประเทศมีกฏหมายสั่งห้ามควบรวมถึง10 ปี หมายว่าภายใน10 ปีเจ้าของกิจการจะต้องยอมขาดทุน แล้วหลังจาก10ปี ถึงจะมีอำนาจเด็ดขาดแล้วสามารถกวาดรวบทั้งตลาดเข้ามาอยู่ในการควบคุมได้ 

 

และอีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ในส่วนของแฟรนไชส์ซึ่งมีกรณีที่เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงเช่น เมื่อแฟรนไชส์ขายดี เกิดการกดดันทางการค้าด้วยการไม่ส่งสินค้าหรือกำหนดเงื่อนไขบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ สุดท้ายเปิดร้านข้างๆกันทำให้ส่วนแบ่งตลาดหายไปแต่กำลังทุนของคนที่เป็นเจ้าของกิจการแฟรนไชส์ไม่หนาพอก็ต้องปิดกิจการไป  กรรมาธิการฯย้ำว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่ทุกคนรับรู้หมดในสังคมว่ามีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น

 

“แม้กระทั่งสินค้าร้านเซเว่นก็ขายหมดทุกอย่างแม้แต่หมูปิ้งข้าวเหนียว ซึ่งไม่เหลือพื้นที่ให้กับคนตัวเล็กตัวน้อยเลย คณะกรรมการของเราเป็นสส. ซึ่งเป็นผู้แทนของพี่น้องประชาชนเราได้รับข้อมูลจากประชาชนเยอะมากแล้วเราก็ต้องการที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนโดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อยที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่ของกรรมการของเรามอง

 

สิ่งที่เราจะต้องติดตามหลังจากนี้มี 2 ประเด็นคือ 1 ราคาสินค้าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีการปรับราคาขึ้นหรือไม่และกระทบผู้บริโภคอย่างไร เรื่องที่ 2 คือ SME ที่เป็น supplier ต้องเอาตัวตนมาดูจริงๆมีกี่รายที่ได้ประโยชน์ในเรื่องเหล่านี้ ยกตัวอย่างเปรียบเทียบที่เป็นรูปธรรมเช่นร้านสะดวกซื้อในเครือของ CP คือเซเว่นอีเลฟเว่นมี 2หมื่นกว่าสาขา สมมุติว่า SME รายหนึ่งมีถั่วเข้ามาขาย กำหนดว่าแต่ละสาขาจะต้องมีสินค้าวางจำหน่ายอย่างน้อย 20 ถุง และจะต้องมีสต็อกสินค้าสาขาละ20 ถุง ราคาต้นทุนถุงละ 10 บาท นั่นหมายว่า SME จะต้องมีเงินลงทุน 4 ล้านบาท คำถามคือ SME จะมีเงิน4 ล้านบาทเพื่อจะสต็อกถั่วอย่างเดียวหรือเปล่า

 

นี่คือประเด็นที่สำคัญมากและยิ่งไปกว่านั้นเราได้รับข้อมูลจากพี่น้องประชาชน คือว่าบางรายนำสินค้าเข้าไปแล้วกลับขายไม่ได้และถูกตัดสิทธิ์ในการวางขาย นั่นหมายความว่าเงินลงทุนสำหรับสต็อกสินค้าหายไปเลย 

 

ซึ่งทางคณะกรรมการพิจราณาแจ้งว่ามีกฎหมายข้ออื่นที่จะป้องกันไม่มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งเรามองว่าอาจต้องแก้กฏหมายหลายฉบับเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันทางการค้าสิ่งเหล่านี้คือเจตนารมณ์ที่สำคัญของคณะกรรมการของเราที่มุ่งหวังให้ 1เศรษฐกิจประเทศเดินหน้าได้  2 เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน 3 ประชาชนผู้บริโภคได้รับประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SME มีโอกาสที่จะขายของได้”