“บีทีเอส” เฮ “ยูซิตี้” ปิดดีลขาย 17 โรงแรมในยุโรป มูลค่า 1.4 หมื่นล้าน

13 มี.ค. 2565 | 06:29 น.

บีทีเอส ปลื้ม “ยูซิตี้” ปิดดีลขายโรงแรมเวียนนา เฮ้าส์ ในยุโรป 17 แห่ง มูลค่า 13,000-14,000 ล้านบาท ทั้งตั้งเป้าทยอยขายโรงแรมในไทยและที่เหลืออีก 2 แห่งในต่างประเทศ รวมถึงอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ให้หมดใน 2-3 ปีนี้ เผยการตัดสินใจไปซื้อเจมาร์ท กับ ซิงเกอร์ ดันรายได้พุ่ง

หลังจาก “บีทีเอส โฮลดิ้งส์” จัดทัพ “ยูซิตี้”ใหม่ โดยประกาศยุติการดำเนินธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ และประกาศขายธุรกิจเหล่านี้ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ได้รับกระทบจากโควิด-19 เพื่อไปลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพแทน หลังจากประกาศขายโรงแรมในยุโรป มาร่วมปี ล่าสุดมีการปิดดีลการขายได้แล้วรวมกว่า 17 โรงแรม  
 

กวิน กาญจนพาสน์

 

นายกวิน กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัท ยูซิตี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบีทีเอส กรุ๊ป ได้ปิดดีลการขายโรงแรมเวียนนา เฮ้าส์ ในยุโรปเรียบร้อยแล้ว  โดยได้ขายโรงแรมภายใต้แบรนด์ “เวียนนา เฮ้าส์” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมระดับ 3-4 ดาว ออกไปรวม 17 แห่ง ทั้งในสาธารณรัฐเช็ก ,เยอรมนี,โรมาเนีย,สโลวาเกีย มูลค่า 13,000-14,000 ล้านบาท ซึ่งได้กำไรจากการขายราว 300-400 ล้านบาท 

แต่ทั้งนี้ก็ยังคงเหลือโรงแรมระดับ 5 ดาวจำนวน 2 แห่ง ในโปแลนด์ และกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ที่ก็ต้องหาคนมาซื้อเหมือนกัน เพราะต้องการขายออกไปทั้งหมด เนื่องจากยูซิตี้ตั้งใจจะยุติการดำเนินธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ เพื่อไปขยายการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะธุรกิจไฟแนนเชียล เซอร์วิส อย่างเจมาร์ท และ ซิงเกอร์ เนื่องจากยังมองไม่เห็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจของโรงแรมในช่วง 3-5 ปีนี้ จากการที่ไม่สามารถทำกำไรได้จากผลกระทบของโควิด-19

 

ทั้งนี้ยูซิตี้”จัดเป็น 1 ใน 4 โครงสร้างการประกอบกิจการของบีทีเอส โฮลดิ้งส์ ที่สมัยก่อนโฟกัสธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  และในอดีตมองว่าโรงแรมเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ ประกอบกับตอนนั้นเกิดสถานการณ์เบร็กซิท ทำให้เราตัดสินใจเข้าไปซื้อแบรนด์โรงแรมเวียนนา เฮ้าส์ ในยุโรปเมื่อปี 2560  และก่อนเกิดโควิดธุรกิจโรงแรมก็เริ่มมีกำไรแล้ว แต่พอเกิดโควิดเราจึงต้องถอย 

 

การถอยของเราคือต้องคิดใหม่ และมูฟให้เร็ว กล้าเปลี่ยน เพราะโควิดมันไม่ได้หายไป อสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่คำตอบสำหรับช่วงนี้  โรงแรมขาดทุนทุกวัน การขายออกไป และนำเงินมาขยายการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ อย่างไฟแนนซ์เชียล น่าจะดีกว่า วันหนึ่งถ้าธุรกิจโรงแรมกลับมาดีในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า ก็กลับไปทำใหม่ก็ยังได้ โดยเราประกาศขายโรงแรมมาเป็นปีแล้ว ก็ใช้เวลากว่าจะขายได้ 

รวมทั้งตั้งเป้าจะทยอยประกาศขายโรงแรมในไทยและที่เหลือในต่างประเทศ รวมถึงอสังหาริมทรัพย์อื่นๆที่เหลือ อาทิ ที่ดินเปล่า,คอนโดมีเนียมต่างๆ,อาคารพาณิชย์ให้เช่า โรงเรียนนานาชาติ ให้หมดภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้ คาดว่าจะมีมูลค่าในการขายเกิดขึ้นราว 2.6 หมื่นล้านบาท
 

 

สำหรับการลงทุนโรงแรมใหม่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการในพื้นที่ร้อยชักสาม ซึ่งเป็นที่ดินเช่าจากกรมธนารักษ์ ได้ข้อสรุปแล้วว่าจะใช้แบรนด์แลงแฮม มารับบริหารโรงแรมนี้ ที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างภายใต้งบลงทุน 2-3 พันล้านบาท จะแล้วเสร็จในอีก 3 ปีข้างหน้า
 

“บีทีเอส” เฮ “ยูซิตี้” ปิดดีลขาย 17 โรงแรมในยุโรป มูลค่า 1.4 หมื่นล้าน

 

นายกวิน ยังกล่าวต่อว่า การตัดสินใจไปซื้อ เจมาร์ท กับ ซิงเกอร์ วันนี้ก็มีกำไรทางบัญชีแล้ว อยู่ที่ราว 8,000 ล้านบาท เพราะตอนตัดสินใจลงทุนราคา 36 บาท วันนี้ราคาหุ้นอยู่ที่กว่า 50 บาทแล้ว สาเหตุที่เข้าไปลงทุนใน“กลุ่มเจมาร์ท” เพราะ “กลุ่มบีทีเอส”  เราขาดคนที่รู้จักคริปโทเคอเรนซี บล็อกเชน และ NFT ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลก ซึ่งกลุ่มเจมาร์ท เป็นบริษัทเดียวของไทยที่มีการออกเหรียญดิจิทัล โทเคน “เจฟินคอย์” โดยกลุ่มเจมาร์ท จะเข้ามาเต็มอีโคซิสเต็มของกลุ่มบีทีเอส ที่จะมาช่วยในด้านคริปโทฯเพื่อต่อยอดธุรกิจด้วยกันได้ 
  

ส่วนธุรกิจประกัน ซึ่ง ยูซิตี้ ได้เข้าไปซื้อหุ้น 75% ในบริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ จำกัด (มหาชน) (A LIFE) มูลค่า 1,500 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองเอาสินค้าของ A LIFE ให้ บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน)หรือ VGI ซึ่งเป็นธุรกิจสื่อโฆษณาของบีทีเอส โฮลดิ้งส์ให้ช่วยขายประกันผ่านออนไลน์เป็นหลัก แต่ก็จะมีตัวแทนด้วยเพราะยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่จะยังคงซื้อประกันกับตัวแทนด้วย 

 

สำหรับผลการดำเนินงานของยูซิตี้ในปี2564 มีกำไรอยู่ที่ 92 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีการขาดทุนอยู่ที่ 6,614 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการการปรับโครงสร้างการลงทุน โดยการขายโรงแรมในยุโรปบางส่วน การเพิ่มทุน และการจ่ายคืนเงินกู้ยืมบางส่วน 


โดยมีรายได้ 6,572 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.3% จากปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากกำไรที่ยังไม่มีการรับรู้จากการลงทุนในเจมาร์ท รายได้จากธุรกิจประกันชีวิต จากการควบรวมงบการเงินของ A LIFE  และการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมและอาคารสำนักงานให้เช่า หักลบด้วยการลดลงของรายได้จากธุรกิจโรงแรมในต่างประทศที่มีการขายออกไป