เช็ค! สวัสดิการพนักงานที่ถูกยกเลิกในช่วง โควิด-19

10 มี.ค. 2565 | 05:33 น.

โควิด-19 กระทบโครงสร้างพนักงานองค์กร หลังยกเลิกสวัสดิการหลายรายการ ขณะที่เด็กจบใหม่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน สะท้อนปัญหาช่องว่างของทักษะ (Skill Gap)ชัดเจน

การสำรวจความคิดเห็นขององค์กรทั่วประเทศจำนวน 1,178 คน ของจ๊อบไทย พบในช่วงสถานการณ์โควิด-19เกิดความเปลี่ยนแปลงของการสมัครงานที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งได้รับใบสมัครที่มาจากนักศึกษาจบใหม่ หรือผู้ที่ยังไม่มีประสบการณ์การทำงานเป็นจำนวนมากเพิ่มขึ้น ได้รับใบสมัครงานที่คุณสมบัติไม่ตรงกับความต้องการ และได้รับใบสมัครงานที่มาจากผู้สมัครที่ทำการย้ายสายงานตามลำดับ รวมทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังทำให้องค์กรมีการยกเลิกสวัสดิการต่าง ๆ โดยมีการยกเลิกสวัสดิการเหล่านี้มากที่สุด ได้แก่

  • กิจกรรมสันทนาการ เช่น งานกีฬาสี งานเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่ ท่องเที่ยวประจำปี
  • จัดคอร์สอบรมและพัฒนาความรู้ภายในองค์กร
  • โบนัส
  • ตรวจสุขภาพประจำปี
  • เงินรางวัลประจำปี /รางวัลพนักงานดีเด่น

โดยปัญหาที่ HR มักจะพบมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่

  • ผู้สมัครงานไม่มาสัมภาษณ์งานโดยไม่แจ้งให้ทราบ 72.92%
  • ผู้สมัครงานเรียกเงินเดือนสูงกว่าคุณสมบัติที่ตัวเองมี 42.11%
  • ทักษะของผู้สมัครงานไม่ตรงหรือมีไม่มากเท่าที่ระบุไว้ในประกาศงาน 39.39%
  • ผู้สมัครงานที่ผ่านการคัดเลือกแต่ไม่มาเริ่มงานตามกำหนด 33.11%
  • ผู้สมัครงานไม่ศึกษาข้อมูลองค์กร 30.05%

 

สิ่งที่ HR ให้ความสำคัญในการพิจารณาใบสมัครงานมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่

  • ทักษะของผู้สมัครที่ตรงกับตำแหน่งงาน
  • คุณสมบัติของผู้สมัครที่ตรงกับประกาศงาน
  • ประสบการณ์เดิมจากที่ทำงานเก่า
  • ทักษะอื่น ๆ ที่ส่งเสริมกับตำแหน่งงาน
  • ความถูกผิดของการสะกดต่าง ๆ ในใบสมัครงาน

สิ่งที่ HR ให้ความสำคัญในการพิจารณาใบสมัครงานน้อยที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.ศาสนาของผู้สมัคร 2.เพศของผู้สมัคร 3.ตัวตนในโลกออนไลน์ 4.สถาบันที่จบการศึกษา และ 5.ความสวยงามของ Resume

ทักษะที่ HR มองหานอกจากทักษะเฉพาะทาง 5 อันดับ ได้แก่

  • ทักษะการรับมือกับปัญหา สามารถปรับตัวเพื่อฟื้นฟูตัวเองเมื่อเจอกับปัญหาหรือความล้มเหลว (Resilience and Adaptability)
  • ทักษะการคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking)
  • ทักษะการคิดเชิงเหตุผลและตัดสินใจเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน
  • ทักษะในการรับมือและจัดการกับความเครียด เมื่อเจอกับปัญหา หรือความเปลี่ยนแปลง
  • ทักษะในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ด้วยตนเอง (Active Learning)

ส่วนด้านผลสำรวจเรื่องการหางาน สมัครงานจากคนทำงานทั่วประเทศจำนวน 12,511 คน ในครึ่งปีแรกของปี 2565 พบว่า

  • กลุ่มคนทำงานประจำและสัญญาจ้างจะยังไม่จริงจังกับการหางานใหม่มากแต่เป็นการเปิดโอกาสไว้และถ้ามีงานน่าสนใจกลุ่มจะลองสมัครงานนั้นดู 53.60%
  • คนทำงานอีกกว่า จะทำการหางานใหม่อย่างจริงจัง26.76%
  • กลุ่มที่ไม่ได้หางานใหม่ แต่ถ้าได้รับการเสนองานให้ก็จะพิจารณา 14.58%
  • กลุ่มที่บอกว่าจะไม่หางานใหม่อย่างแน่นอน 5.05%

ซึ่งปัจจัยที่คนทำงานใช้พิจารณาเลือกย้ายงานหรือทำงานในองค์กรเดิมต่อ ได้แก่ 1.เงินเดือน 2.สวัสดิการ 3.โบนัส 4.ความก้าวหน้าในอาชีพ และ 5.การเดินทางที่สะดวก ซึ่งคนหางานจะหาข้อมูลก่อนการสมัครงานผ่านช่องทางดังนี้

  • เว็บไซต์หางาน สมัครงาน
  • เว็บไซต์บริษัท
  • โซเชียลมีเดียขององค์กร

และคนทำงานยังเผยสิ่งที่ทำให้รู้สึกไม่อยากสมัครงานกับองค์กรหากมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในขั้นตอนสมัครงาน คือ

  • ต้องมีผู้ค้ำประกัน
  • ค้นหาข้อมูลบริษัทได้น้อย เช่น ค้นหาไม่เจอบน Maps
  • มีการสัมภาษณ์งานมากกว่า 2 รอบขึ้นไป
  • ไม่มีความเคลื่อนไหวบน Social Media ของบริษัท
  • ต้องมีบุคคลรับรอง

 

จะเห็นได้ว่า 2 ใน 5 เรื่องที่คนทำงานให้ความสำคัญเป็นเรื่องของข้อมูลองค์กร ยิ่งในยุคที่ข้อมูลมากมายความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรไม่ควรมองข้าม ดังนั้นฝั่งองค์กรเองควรทำเรื่องภาพลักษณ์นายจ้าง (Employer Branding) ให้มีความน่าสนใจดึงดูดให้คนอยากร่วมงานด้วย

 

โดยการสร้างตัวตนให้คนสามารถค้นหาเจอบนออนไลน์ และต้องสื่อสารเรื่องราวขององค์กรในด้านต่าง ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น วัฒนธรรมองค์กร บรรยากาศในการทำงาน สวัสดิการที่น่าสนใจ อัปเดตข่าวสารและผลงาน รวมไปถึงกิจกรรมภายใน ภายนอกองค์กร

 

จากการทำแบบสำรวจในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาช่องว่างของทักษะ (Skill Gap) ได้อย่างชัดเจน คือ การที่คนทำงานมีทักษะในการทำงานน้อยกว่าที่นายจ้างคาดหวัง หรือมีคุณสมบัติไม่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้คนหางานสมัครงานไม่ได้งานตามที่ต้องการ ดังนั้นคนทำงานต้องเร่งพัฒนาทักษะให้ทันกับความต้องการของตลาด ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอและนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานให้ได้

 

ด้านนักศึกษาจบใหม่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต้องเจอกับการแข่งขันที่สูง ดังนั้นในการสมัครงานนักศึกษาจบใหม่ต้องมีการเตรียมพร้อมให้ดี ให้ความสำคัญกับการทำเรซูเม่ที่ดีให้เน้นไปที่เนื้อหาที่เราต้องนำเสนอเพื่อให้องค์กรสนใจ โดยดึงจุดเด่นทักษะที่ตรงกับประกาศงานออกมานำเสนอให้มากที่สุด หลีกเลี่ยงการใส่ข้อมูลที่ไม่เป็นประโยชน์กับตำแหน่งงานที่สมัคร และศึกษาข้อมูลขององค์กรที่เราสมัคร รวมถึงเตรียมพร้อมในการสัมภาษณ์งานให้ดี โดยศึกษาวิธีการสัมภาษณ์และซ้อมสัมภาษณ์จะช่วยลดความประหม่าและเพิ่มโอกาสในการได้งาน