รมว.แรงงานเน้น “ประชารัฐ” เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน

10 พ.ค. 2559 | 06:40 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2540 กำหนดให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” ซึ่ง พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของคนทำงานในทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ โดยจัดให้มีโครงการ “90 วัน ยุทธการลดอันตราย” เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักและให้ความสำคัญถึงอันตราย ความสูญเสียและผลกระทบอันเนื่องจากการประสบอันตรายจากการทำงาน และสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในการทำงานให้เกิดขึ้นกับทุกคนในทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืนโดยใช้กลไก “ประชารัฐ” ในการขับเคลื่อน และการที่รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 10 พฤษภาคม เป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาตินั้น ก็เพื่อให้เป็นโอกาสหนึ่งของทุกปีที่ทุกคนจะได้ร่วมกันรำลึกถึงเหตุการณ์ความสูญเสียในอดีต ย้อนรอยและถอดบทเรียนที่จะนำไปสู่การป้องกันอย่างเป็นรูปธรรมและบรรลุผลภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ถือว่าเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่ร้ายแรงในประวัติศาสตร์ของไทย ซึ่งเป็นเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 ยังผลให้มีลูกจ้างเสียชีวิต 188 คน และบาดเจ็บกว่า 400 คน ซึ่งถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ส่งผลให้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจในการดำเนินมาตรการเชิงป้องกัน รวมถึงพัฒนาบริหารจัดการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ และรณรงค์สร้างจิตสำนึกของทุกฝ่ายเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในการทำงานให้เกิดขึ้นเป็นวัฒนธรรมภายในชาติต่อไป ซึ่งวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ได้จัดให้มีกิจกรรม ณ สำนักความปลอดภัยแรงงาน อาคารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (ส่วนแยกตลิ่งชัน) กรุงเทพฯ โดยมีการร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้เสียชีวิตจากการทำงาน มีการเสวนาด้านความปลอดภัย ตลอดทั้งวันด้วย ทั้งนี้ ภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบัน จากการดำเนินการภายใต้กลไก “ประชารัฐ” ทำให้สถิติการประสบอันตรายจากการทำงานลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2557(ตค. 56 – ม.ค. 57) อัตราการประสบอันตรายจากการทำงาน กรณีเสียชีวิตมีอัตรา 2.2556 ต่อ 1 แสนคน ในปี 2559 (ต.ค.58 –ม.ค.59) ลดลงเหลือเพียง1.9065 และกรณีร้ายแรงในปี 57มีอัตรา 1.2594 ต่อ 1 พันคน ลดลงเหลือ 0.9715 ในปี 59 ซึ่งหากสามารถลดการประสบอันตรายได้อย่างต่อเนื่องจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งต่อคนทำงาน ผู้ประกอบการ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย