ซีพี ชี้ “เทคโนโลยีดิจิทัล-นวัตกรรม” คือใบเบิกทางความยั่งยืน

11 ม.ค. 2565 | 05:30 น.

ซีอีโอเครือซีพี “ศุภชัย เจียรวนนท์” เชื่อ “เทคโนโลยีดิจิทัล-นวัตกรรม” คือเครื่องมือสำคัญให้โลกก้าวสู่ความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ พร้อมเปิดโอกาสสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจใหม่

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ได้ขึ้นเวทีร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในโครงการ Climate Action Leaders Forum หรือ CAL Forum (รุ่น 1) จัดโดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ร่วมกับ พันธมิตร ในหัวข้อ “Race to Zero: Toward a Green Economy” ว่า

 

การจะขับเคลื่อนเรื่อง Climate Change ให้เห็นผลนั้นสิ่งสำคัญที่สุดต้องเริ่มจากความตระหนักรู้ให้ได้ว่าสิ่งที่เรากำลังใช้อยู่ในการสร้างระบบเศรษฐกิจ สร้างความมั่งคั่ง สร้างงานกระจายรายได้ สร้างเศรษฐกิจให้เติบโตได้ทั้งโลกนั้น กลับมีส่วนน้อยมากที่จะคำนึงถึงความยั่งยืน 

ทำให้ปัญหาภาวะเรือนกระจกและมลภาวะส่งผลอย่างเห็นได้ชัดมาสู่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในช่วงเวลาที่ผ่านมา 20-30 ปีมานี้ ซึ่งเราไม่สามารถปล่อยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาได้แล้ว สำหรับประเทศไทยจึงสำคัญและเร่งด่วนมากที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญในการร่วมปรับเปลี่ยนสู่การสร้างโลกที่ยั่งยืนภายในเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า

 

เพราะหากยังปล่อยให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นจะเกิดผลเสียต่อระบบนิเวศของโลกที่ส่งผลต่อทุกสิ่งมีชีวิตจนถึงตั้งแต่ระดับพื้นฐานคือระบบวัตถุดิบการเกษตรต่าง ๆ ที่จะมีผลจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเชื่อมโยงไปยังการผลิตอาหารของโลก และคุณภาพชีวิตทั้งหมด

วันนี้โลกมีความท้าทายสำคัญ 3 ด้านที่ต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลง คือ 1.ความเหลื่อมล้ำ 2.การปรับตัวสู่ดิจิทัล 3.ความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องเป็นลูกโซ่ ดังน้ันทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนความท้าทายเหล่านี้ร่วมกัน โดยเฉพาะความร่วมมือในการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนโลกที่ยั่งยืนขึ้น

 

เพราะวันนี้ทุกเรื่องอยู่บนพื้นฐานเทคโนโลยีทั้งหมด การที่ภาครัฐและเอกชนมีความตระหนักรู้ที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาขับเคลื่อน ปรับเปลี่ยนตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการใช้พลังงาน โดยหันมาใช้พลังงานทดแทนต่าง ๆ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนภูมิทัศน์ทั้งหมด (Landscape Changing) ในระบบอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่จะมีผลดีต่อการสร้างความยั่งยืนต่อไปในอนาคต และยังเป็นโอกาสสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม อาทิ อุตสาหกรรมและธุรกิจที่ต่อยอดมาจากพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด

 

ซึ่งหลายประเทศมองว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาผนวกกับการสร้างอุตสาหกรรมที่คำนึงถึงความยั่งยืนนั้นจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมให้กับโลก

 

สำหรับการดำเนินการของเครือซีพีในด้านความยั่งยืนที่ผ่านมามีการปรับตัวของการดำเนินธุรกิจในกลุ่มต่าง ๆ ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน การมีส่วนร่วมตลอดจนการสร้างความยั่งยืนจนปัจจุบันเครือซีพีได้รับการยอมรับในระดับโลกทั้งในเวที UN Global Compact และติดในท็อปของ 38 บริษัทระดับโลกที่ดำเนินการเรื่องความยั่งยืนที่เปลี่ยนแปลงได้จริง โดยกระบวนการที่ซีพีใช้อยู่บนพื้นฐานหลัก 5 ประการ คือ 1.ความโปร่งใสของข้อมูล 2.กลไกตลาด 3.ความเป็นผู้นำ 4.การให้อำนาจ 5.นวัตกรรมและเทคโนโลยี

 

โดยทั้งหมดอยู่บนแนวคิดจุดเริ่มต้นของการมี Compassion ที่คำนึงถึงการตระหนักรู้ว่าจะต้องสร้างพลังที่คำนึงถึงความยั่งยืน แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งต่อไปยังคนรุ่นหลัง โดยเฉพาะการสร้างองค์ความรู้ด้านการจัดการกับความยั่งยืนในทุกมิติให้กับเยาวชน