การบินไทย รุกจัดโครงสร้างทุน หาเงินทุนใหม่ 5 หมื่นล้านฟื้นธุรกิจ

29 ก.ย. 2564 | 04:00 น.

การบินไทย เตรียมจ้างFA จัดโครงสร้างทุน หาทุนใหม่ 5 หมื่นล้านบาทในช่วง2 ปีนี้ ควบคู่การลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายเหลือ 5.3 หมื่นล้านบาทภายในปี 65 พร้อมเดินแผนขายเครื่องบิน 42 ลำในปีนี้ ทั้งเริ่มกลับมาขายตั๋วบินระหว่างประเทศ1ต.ค.นี้

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าว ว่าการบินไทยอยู่ระหว่างการจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) จัดโครงสร้างการใช้เงินทุนใหม่ หลังช่วงที่ผ่านมาแผนการใช้จ่ายของบริษัทเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น โดยภายใน 2 ปี (ปี64-65) บริษัทต้องการการเงินทุนใหม่ 50,000 ล้านบาท ซึ่งมาจากสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงิน หรือบุคคลทั่วไปก็ได้ และการสนับสนุนจากภาครัฐ

                                         

“การแหล่งเงินใหม่จะมาจากไหนยังตอบไม่ได้ แต่บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมแผนของบริษัทอยู่ ซึ่งหากพร้อมหรือแล้วเสร็จเมื่อไรจะไปพบกับผู้ลงทุนต่อไป”

นอกจากนี้บริษัทได้วางเป้าหมายที่จะลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้ลดลงเหลือแตะระดับ 53,000 ล้านบาท ภายในปี 65  ปัจจุบันทำได้ตามแผนแล้ว 4.42 หมื่นล้านบาท จากการดำเนินการปรับลดค่าใช้จ่ายที่มีกว่า 600 โครงการ โดยพยายามตัดลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นออกไปอย่างต่อเนื่อง มีการขายทรัพย์สินบางส่วนที่ไม่ได้ใช้งาน เพื่อนำเงินมาใช้ประคองธุรกิจ

 

ส่วนด้านบุคลากรที่มีอยู่จำนวนมากได้ปรับแผนงาน ลดสัดส่วนลงเพื่อลดต้นทุนในระยะยาว ทำให้ปัจจุบันมีพนักงานเหลือจำนวน 15,300 คน จากปี 62 ที่มีกว่า 29,500 คน รวมถึงช่วงต้นปีมีการให้พนักงานใช้สิทธิลาโดยไม่รับเงินเดือนและยินยอมลดเงินเดือนตัวเอง

 

อีกทั้งการบินไทยยังมีแผนปรับลดฝูงบิน จากก่อนหน้าที่มีเครื่องบินเกือบ 100 ลำ บริษัทมีแผนจะขายเครื่องบินออกจำนวน 42 ลำ โดยปีนี้จะพยายามจะขายออกให้ได้ทั้งหมด ขณะที่บางส่วนที่เช่ามาให้บริการ จะมีการดำเนินการคืนแก่บริษัทผู้ให้เช่า และกำลังเจรจาการเช่าเครื่องบินใหม่ ปรับแผนการเช่าโดยจ่ายค่าเช่าตามชั่วโมงบินจริงเท่านั้น คาดว่าจะทำให้ผลประกอบการกลับมาดีขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต

รวมทั้งตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ การบินไทยจะเริ่มกลับมาเปิดขายตั๋วโดยสารเส้นทางบินระหว่างประเทศหลายเส้นทางการที่บินไปยังหลายเมืองในยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นการเปิดเส้นทางการบินปกติของตารางบินฤดูหนาว ซึ่งจะมีโปรโมชั่นดีๆให้กับลูกค้าได้เลือกหลายแบบ พร้อมขอให้ช่วยกันสนับสนุนการบินไทย เพราะเป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดยคนไทยและถือเป็นสายการบินแห่งชาติ
 

ขณะเดียวกันการบินไทยยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากบริการขนส่งสินค้าทางอากาศ (คาร์โก้) ที่สามารถสร้างรายได้สูงกว่ารายได้จากผู้โดยสารในช่วงที่ยังทำการบินไม่ได้ และหน่วยธุรกิจครัวการบิน บริการภาคพื้น ที่สนับสนุนเข้ามา รวมถึงการขายสินทรัพย์ที่เห็นว่าบริษัทไม่ได้ใช้ในอนาคตอีก และขายเงินลงทุนใน บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) และ บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK)