ทีพีไอ เฮ ครม.เคาะ "ผ่อนผันพื้นที่ลุ่มน้ำ" ทำเหมืองแร่ปูนซีเมนต์สระบุรี

21 ก.ย. 2564 | 12:59 น.

มติที่ประชุมครม. ผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ และ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ของบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ที่จังหวัดสระบุรี

วันที่ 21 ก.ย. 64 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอการขอผ่อนผันให้บริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) ใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ และ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนและหินดินดานเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ตามคำขอประทานบัตรที่ 2 - 3/2553 และที่ 1 - 8/2555  ที่จังหวัดสระบุรี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 

และที่ 1 - 8/2555 ที่จังหวัดสระบุรี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 และวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544 และให้กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อหน่วยงานเจ้าของพื้นที่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แล้ว อก. โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะได้ดำเนินการให้ครบถ้วนถูกต้องตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรต่อไป  

สาระสำคัญของมติครม.ดังกล่าว คือ

1. บริษัทฯ เป็นผู้ถือประทานบัตร จำนวน 10 แปลง ในพื้นที่คำขอประทานบัตรที่ 2 - 3/2553 และที่ 1 - 8/2555 ชนิดแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนและหินดินดานเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ที่ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย และตำบลมิตรภาพ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี รวมเนื้อที่ 2,706 ไร่ 79 ตารางวา [(อก. แจ้งว่าการออกประทานบัตรดังกล่าวเอกชนใช้ประโยชน์ที่ดินไปก่อนที่จะมีการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538

และต่อมาบริษัทฯ ได้ยื่นคำขอประทานบัตรใหม่ทับพื้นที่ประทานบัตรเดิมทั้งหมด เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 (ก่อนที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้)] โดยปัจจุบันประทานบัตรดังกล่าวบางส่วนได้หมดอายุแล้ว

2. การขอผ่อนผันการใช้พื้นที่เพื่อการทำเหมืองของบริษัทฯ ในครั้งนี้ เป็นการยื่นคำขอประทานบัตรใหม่ทับพื้นที่ประทานบัตรเดิมของบริษัทฯ เอง รวมเนื้อที่ 2,706 ไร่ 79 ตารางวา ทั้งนี้ การทำเหมืองในพื้นที่เดิมซึ่งยังมีปริมาณและคุณภาพแร่เพียงพอเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรในพื้นที่เดิมอย่างคุ้มค่า

การทำเหมืองใช้เทคโนโลยีทันสมัย และเทคโนโลยีสะอาดเพื่อช่วยรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การพัฒนาพื้นที่ภายหลังการทำเหมืองจะมีลักษณะเป็นบ่อขนาดใหญ่ จากแผนการฟื้นฟูพื้นที่จะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ มีความจุประมาณ 39.5 ล้านลูกบาศก์เมตร

ซึ่งสามารถรองรับการใช้ในพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมได้ 36,000 ครัวเรือน โครงการเหมืองหินดังกล่าวอยู่บนหลักโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Economy) ซึ่งการขอทำเหมืองในครั้งนี้เป็นการขอทำเหมืองในพื้นที่เดิมซึ่งไม่มีสภาพป่าไม้หรือสภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เหลืออยู่

รวมถึงได้รับการพิจารณาแล้วว่าผลดีจากการทำเหมืองมีมากกว่าผลเสียที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน หากบริษัทฯ ไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าใช้พื้นที่ดังกล่าว จะต้องมีการขออนุญาตในพื้นที่ใหม่ซึ่งจะส่งผลเสียโดยตรงต่อพื้นที่ป่าไม้แห่งใหม่ทั้งในด้านทัศนียภาพ และการทำลายทรัพยากร และจะกระทบต่อการผลิตปูนซีเมนต์ในภาพรวมของประเทศ

เนื่องจากบริษัทฯ มีกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ถึง 1 ใน 5 ของกำลังการผลิตรวมของทั้งประเทศ รวมถึงการจ้างงานและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ที่ขอประทานบัตร เนื่องจากบริษัทฯ ได้มีการจ้างงานในชุมชนในส่วนเหมืองประมาณ 500 ราย ส่วนของโรงงานปูนซีเมนต์ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกมากกว่า 20,000 ราย

3. การดำเนินการในขั้นตอนนี้ไม่ได้เป็นการพิจารณาอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ แต่เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อขออนุมัติผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ และ 1 บี

เเหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า มติครม.วันนี้ในการพิจารณาการขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1เอ และ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่ของบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด(มหาชน) จังหวัดสระบุรีนั้น ครม.ได้อนุมัติหลังจากทีพีไอดำเนินการเรื่องนี้อย่างถูกต้องมาห้วงเวลาหนึ่งเเล้ว เเต่ถูกฝ่ายการเมืองบางกลุ่มในรัฐบาลชะลอเรื่องนี้ไว้

เเละทราบว่าทีพีไอเเจ้งไปยังข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อชี้เเจงถึงการปฏิบัติว่าได้ทำตามกฎหมายอย่างถูกต้องเเละขอให้ช่วยเร่งพิจารณาเพราะกระทบการดำเนินงานของตน

รายงานข่าวเเจ้งว่า ทราบว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรับทราบเรื่องนี้มาระยะหนึ่งเเล้วจึงสั่งการไปยังข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงอุตสาหกรรมให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง จนทราบว่าทีพีไอดำเนินการถูกต้องทุกประการ เเละข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงอุตสาหกรรมยืนยันขั้นตอนว่าโปร่งใส ทำให้พลเอกประยุทธ์ประสานไปที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ให้เร่งเสนอเรื่องนี้ให้ครม.พิจารณา เพราะตัองทำให้ทุกอย่างโปร่งใส 

รายงานข่าวกล่าวว่า ประเมินกรณีนี้นั้นเหตุที่เรื่องนี้ล่าช้าอาจมาจากฝ่ายการเมืองที่กำกับดูเเลกระทรวงอุตสาหกรรมดึงวาระนี้ไว้พิจารณาเพราะกระทรวงนี้ กลุ่มสามมิตร พรรคพลังประชารัฐได้รับมอบหมายจากพลเอกประยุทธ์ไปกำกับดูเเล เเละในอดีตนั้นนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เเกนนำกลุ่มสามมิตรเคยร่วมงานการเมืองกับนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ผู้บริหารทีพีไอเมื่อหลายปีก่อนในการตั้งพรรคมัชฌิมาธิปไตยเเละต่อมาเกิดอาการเเตกคอกัน 

"เมื่อทีพีไอดำเนินการเรื่องนี้ตามขั้นตอนเเละถูกตัอง เเต่อาจล่าช้าจากฝ่ายการเมืองบางกลุ่มในรัฐบาล เมื่อพลเอกประยุทธ์ทราบเรื่องเเละสั่งให้ตรวจสอบ จนทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดเเละยังกำชับครม.เสมอๆว่าต้องบริหารงานเเบบโปร่งใส ยุติธรรม ไม่เอนเอียงเเละเลือกปฏิบัติ"รายงานข่าวระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ หมายถึง พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ที่ยังคงมีสภาพป่าสมบูรณ์ ปรากฏอยู่ในปี 2525 ซึ่งจำเป็นจะต้องสงวนรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารและเป็นทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี หมายถึง พื้นที่ในลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ซึ่งสภาพป่าส่วนใหญ่ในพื้นที่ได้ถูกทำลาย ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงไปเพื่อพัฒนาการใช้ที่ดินรูปแบบอื่นก่อนหน้าปี 2525 และการใช้ที่ดิน หรือการพัฒนาที่ดำเนินการไปแล้วจะต้องมีมาตรการควบคุมเป็นพิเศษ
 

ที่มามติครม. : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล