บอร์ดสสว. เคาะงบ 1.22 พันล้าน ช่วย MSME ฟื้นฟูธุรกิจ

25 ส.ค. 2564 | 07:57 น.

บอร์ดวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เห็นชอบจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 2565 จำนวน 1,224.8801 ล้านบาท มุ่งเป้าให้ MSMEs อยู่รอดหลังการแพร่ระบาดไวรัส Covid-19 “นายก”กำชับใช้งบให้คุ้มค่าช่วยคนตัวเล็ก

วันนี้ (25 สิงหาคม 2564) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ครั้งที่ 3/2564 (ผ่านระบบ Video Conference) โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมประชุม โดยที่ประชุมเห็นชอบมติสำคัญ อาทิ ร่างระเบียบคณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการให้ความช่วยเหลือ อุดหนุน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จากเงินกองทุนสานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ผ่านผู้ให้บริการทางธุรกิจ พ.ศ. ....   รวมทั้งมีมติเห็นชอบจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อม ประจำปี 2565 จำนวน 1,224.8801 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายให้ผู้ประกอบการได้รับการส่งเสริมและพัฒนาให้ MSMEs (Micro-entrepreneurs, Small and Medium-sized Enterprises) หรือกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย สามารถอยู่รอด หลังการแพร่ระบาดไวรัส Covid-19 บรรเทาปัญหาและฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับ ผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 รวมทั้งให้อยู่เป็นโดยการสร้างความพร้อมให้ SMEs ในการเข้าสู่ การแข่งขันในบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ และอยู่อย่างยั่งยืนคือ การปรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ เกิดความสะดวกแก่ SMEs 

นอกจากนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้  

นายกรัฐมนตรีสั่งการให้เร่งพัฒนา Single sign on (SSO) ระบบฐานข้อมูลสมาชิก สสว. เพื่อเชื่อมโยงการบริการและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ ย้ำการใช้เงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ เกิดความคุ้มค่า และประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ SMEs โดยตรง 

พร้อมกันนี้ ยังได้เสนอแนะในที่ประชุมให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ยังล้าสมัยให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยให้คำนึงถึงการประกอบธุรกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 และผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนที่จะได้รับ ซึ่งสามารถหารือร่วมกับสำนักงาน ป.ย.ป. และคณะทำงานด้านการปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการต่อยอดเศรษฐกิจ ยกระดับ SMEs รวมถึงการส่งเสริมให้มีพี่เลี้ยงสนับสนุนพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาขึ้นเป็น SMEs รายใหม่ ด้วยการบูรณาการทำงานร่วมกันกับศูนย์บ่มเพาะต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศ เช่น ศูนย์ดิจิทัล ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้การทำงานเชื่อมโยงกันเป็นระบบและไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

นายกรัฐมนตรียังกำชับให้เร่งแก้อุปสรรคและข้อจำกัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs โดยจัดทำข้อมูลของ SMEs ให้ชัดเจนเพื่อใช้พิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม เข้าถึงสินเชื่อและแหล่งเงินทุนแต่ละประเภทได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งใช้ข้อมูลการบริหารงบประมาณของในส่วนของการพัฒนาจังหวัด กลุ่มจังหวัดประกอบ เพื่อเร่งสร้างงานและรายได้ให้กับประชาชนได้มากขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย  

 

พลเอก ประยุทธ์ ยังยืนยันว่า รัฐบาลพร้อมส่งเสริม SMEs ที่มีศักยภาพและมีนวัตกรรม ส่วน SMEs ที่มีศักยภาพยังน้อย ก็ต้องหาแนวทางควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ส่งเสริมการค้าขายออนไลน์เพื่อให้ SMEs ขนาดเล็กสามารถขยายกิจการเป็นขนาดย่อมและขนาดใหญ่ สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ด้วย ซึ่งทุกส่วนราชการช่วยกันดำเนินการไปสู่เป้าหมายที่กำหนด 

รวมทั้งมอบหมาย สสว. หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมการขายสินค้าเกษตรออนไลน์และการขนส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพและความรู้ด้านเทคโนโลยีเข้ามาสู่ภาคเกษตรให้ได้มากที่สุด เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรของไทยให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน มีความมั่นคงทางอาชีพและรายได้  นายกรัฐมนตรี ยืนยันฐบาลได้มีการดูแลหนี้ของประชาชนทุกกลุ่มโดยไม่เคยทิ้งใครไว้ข้างหลัง หลักการคือการแก้ปัญหาหนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งให้ความสนใจถึงการแก้ปัญหาหนี้ของจีนที่จะนำมาปรับใช้กับประเทศไทยในการแก้ปัญหา “หนี้รายครัวเรือน” ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับประเทศไทยต่อไป