‘เอท อิงค์’ ชี้ทิศค้าปลีก เข้าสู่โหมดปรับตัว  

01 ส.ค. 2564 | 22:52 น.

“เอท อิงค์” แนะผู้ประกอบการค้าปลีกเร่งปรับกลยุทธ์สอดรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลง พร้อมก้าวเข้าสู่การตลาดแนวใหม่ หลังโควิด-19 กระตุ้นค้าปลีกทั่วโลกเข้าสู่โหมดปรับตัว

นายทิม โคบี ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท Eight Inc. นักออกแบบและนักวางกลยุทธ์ด้านธุรกิจค้าปลีก เปิดเผยว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยภาคการท่องเที่ยวและค้าปลีกค่อนข้างมาก เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจจากโควิด-19 จึงได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างหนัก

 

อย่างไรก็ตามทุกครั้งที่มีวิกฤติมักจะมีโอกาสตามมาด้วย ดังนั้นการออกสินค้าหรือบริการใหม่ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ซบเซา ท้ายที่สุดแบรนด์ก็จะสามารถพลิกกลับมาสร้างรายได้และสร้างการเติบโตได้

 

เพราะฉะนั้นในทุกๆครั้งที่มีวิกฤติถ้าแบรนด์ทำแค่การตั้งรับโดยไม่แอคทีฟ ก็จะเสียโอกาส เพราะช่วงเวลาเหล่านี้มักเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่จะขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตไปข้างหน้า สิ่งสำคัญคือ ต้องมองดูว่าสามารถจะทำอะไรได้บ้างกับสถานการณ์ตรงนี้

 

อีกประเด็นของธุรกิจค้าปลีกคือเรื่องของหน้าร้านและอีคอมเมิร์ซ เป็นโจทย์ที่ผู้ประกอบการต้องคิดออกแบบว่า จะสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคทั้งในเรื่องของ Physical และ Virtual ซึ่งปัจจุบันทั้ง Physical และ Virtual ถูกนำมาเชื่อมโยงกันเพื่อผลทางธุรกิจและประสบความสำเร็จอย่างมากโดยเฉพาะในธุรกิจค้าปลีกในประเทศจีนที่สามารถสร้างยอดขายเพิ่มถึง 6 เท่า

 

“สำคัญที่สุดคือ เขามีการ Create React App กับผู้บริโภคขึ้นมาใหม่เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ และเก็บข้อมูลของผู้บริโภคทั้งพฤติกรรมการซื้อและความผู้บริโภค เพื่อสรรหาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้จริงๆแล้วมันไม่ใช่เฉพาะเรื่องของดิจิตอลเท่านั้น

ทิม โคบี

แต่มันเป็นเรื่องของการผนวกรวมกันระหว่างดิจิตอลและฟิสิกคอลและวันนี้เรามองว่ามันสามารถที่จะตอบรับกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ได้ ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจอื่นๆ ต้องมีการปรับ Digital Native คือการทำให้ธุรกรรมหรือบริการ ของตัวเองเป็น Digital Life”

 

ในประเทศไทยอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือกลุ่ม digital nomad คือกลุ่มคนที่ทำงานแต่ไม่ได้ทำงานในออฟฟิศเป็นการรับงานแล้วไปทำนอกสถานที่ซึ่งเป็นตลาดที่น่าสนใจที่ผู้ประกอบการควรจะให้ความสำคัญและทำงานกับกลุ่มคนนี้ให้มากขึ้นได้

 

สำหรับอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไป เพราะประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศจำนวนมาก ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นจะต้องหาวิธีที่จะนำนักท่องเที่ยวกลับมา โดยใช้ระบบต่างๆ เช่น ระบบการติดตามดูแลนักท่องเที่ยวโดยใช้ระบบดิจิตอลเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

 

ขณะที่ตลาดท้องถิ่นหรือโลคัล มาร์เก็ตก็ไม่สามารถที่จะดึงดูดลูกค้าภายในประเทศของตัวเองได้ ทำให้ในส่วนธุรกิจค้าปลีกยอดลดลงประมาณ 6% ของ GDP ซึ่งพอจะทำให้มองออกว่าธุรกิจค้าปลีกได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก

 

แต่อย่างไรก็ตามยังมีโอกาสที่อุตสาหกรรมค้าปลีกเหล่านี้ จะพลิกกลับมาได้และมีโอกาสอีกมากมายในตลาดซึ่งสำคัญที่สุดก็คือ จะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาและมีความเชื่อมั่น ส่วนผู้ประกอบการเอง ก็จะต้องปรับตัวและมองหากลุ่มเป้าหมายใหม่ๆก็คือกลุ่ม Digital Nomad ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจอย่างมาก

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,701 วันที่ 1 - 4 สิงหาคม พ.ศ. 2564