มาตรการเยียวยา ‘ล็อกดาวน์’ ไร้แรงดันผู้ประกอบการ ‘SMEs’ ฟื้น

16 ก.ค. 2564 | 22:39 น.

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ชง 5 มาตรการเยียวยา SMEs ช่วง "ล็อกดาวน์" เปิดโอกาสผู้ประกอบการเดินหน้าธุรกิจ เผย 3 เดือนทุกข์หนัก หลังเศรษฐกิจถดถอย วอนเร่งสปีด ลดขั้นตอน แก้ให้ถูกจุด ก่อนสายเกินไป

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างหนักในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งผู้ประกอบการทั้งรายย่อย รายเล็กและรายกลาง

 

ต่างต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย แตกต่างจากการระบาดในปีก่อนที่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการรายย่อยและรายเล็กจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงัน

 

“3 เดือนที่ผ่านมา รอบนี้กระทบหนักมาก เราเข้าใจดีว่าทุกคนลำบากหมด ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบถ้วนหน้า ประชาชนหาเช้ากินค่ำก็ลำบาก เดือดร้อน สิ่งที่สมาพันธ์ต้องการคือ มาตรการที่ตรงกลุ่มเป้าหมายและรวดเร็ว”

 

วันนี้ต้องขอบคุณรัฐบาลที่คิกออฟมาตรการออกมา แต่ถามว่าสิ่งเหล่านี้จะถึงมือประชาชน ถึงผู้ประกอบการในกี่วัน มาตรการจะดีอย่างไรหากไปไม่ถึงประชาชน หรือถึงช้าอาจจะชวยไม่ทัน ทำอย่างไรที่รัฐจะส่งต่อความช่วยเหลือให้เร็วที่สุด และต้องการให้มีกลไกในการประเมินความช่วยเหลือ

  แสงชัย ธีรกุลวาณิช

ซึ่งสิ่งนี้สำคัญ หากรัฐมีมาตรการดีๆ ออกมา เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟ 10% แต่หากไม่มีการประเมินรอบด้าน รัฐจะรู้ได้อย่างไรว่ามาตรการนี้ดี ตอบโจทย์ ช่วยเหลือประชาชนได้แค่ไหน

 

มาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการ แรงงานในระบบและนอกระบบ เป็นสิ่งที่ดี แต่ตัวเลขผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ กระจายอย่างไรและได้รับจริงแค่ไหน บางกลุ่มจนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับการเยียวยา

 

“สิ่งที่รัฐบาลทำเชื่องช้า ควรลดขั้นตอนต่างๆในภาวะวิกฤติเช่นนี้ อะไรที่ตัดทิ้งได้ก็ควรจะตัดออกไป ทำอย่างไรให้รวดเร็ว เร่งด่วน สิ่งที่พูดนี้ไม่ได้ตำหนิ เพื่อทำร้าย หลายหน่วยงานทำกันเต็มที่เสาร์-อาทิตย์ไม่ได้หยุด แต่เราให้ความคิดเห็นเพื่อที่จะแก้ปัญหาและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และปรับปรุงในสิ่งที่รัฐบาลต้องทำ”

 

โดย 3 ป.ที่รัฐบาลต้องทำคือ 1. “ประเมิน” สถานการณ์เช่นนี้ต้องประเมินทุกวัน ทุกระยะ ที่ผ่านมาเราเห็นแต่การประเมินมาตรการทางสุขภาพโดย ศบค. แต่ไม่เห็นการประเมินมาตรการทางเศรษฐกิจ หากรัฐบาลโชว์ตัวเลข ผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ

 

ตัวเลขผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนลดลง 20-30% ทำให้เห็นสภาวะเศรษฐกิจว่า ผู้ป่วยทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว จากการได้รับความช่วยเหลือ ไม่ต้องทำในวงกว้างเน้นในพื้นที่สีแดงเข้ม 10 จังหวัดที่มีการล็อกดาวน์ เพราะหากรัฐเดินหน้าทุกอย่างก็จะขยับตาม

 

“วันนี้ในภาคเอสเอ็มอีมีผู้ประกอบการราว 3.1 ล้านราย มีการจ้างงานเกือบ 12 ล้านคน ในอีโคซิสเทมนี้คิดเป็น 23% ของประชากรทั้งประเทศ เป็นกลุ่มก้อนใหญ่ที่รัฐมองข้ามไม่ได้ และหากปล่อยให้เกิดวิกฤติจะส่งผลกระทบมาก ซึ่งวันนี้ผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 2.7 ล้านรายอยู่ในภาวะมากกว่าวิกฤติ”

 

อีกสิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ 2. “ปรับปรุง” หลังประเมินมาตรการต่างๆแล้ว รัฐจะรู้ว่าสิ่งใดที่ถูกและควรเดินหน้าต่อ หากมาตรการใดที่ไม่เหมาะก็ต้องยอมรับและแก้ไข ซึ่งที่ผ่านมาหลายมาตรการช้า และไม่ถึงมือกลุ่มเป้าหมาย มีวิธีแก้ไขปรับปรุงอย่างไร

มาตรการเยียวยา ‘ล็อกดาวน์’ ไร้แรงดันผู้ประกอบการ ‘SMEs’ ฟื้น

และ 3. “เปลี่ยนแปลง” หากประเมินแล้ว ปรับปรุงแล้ว ยังไม่ดี รัฐก็ต้องยอมรับและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง หลายๆสิ่งที่เกิดขึ้นและไม่ได้ถูกใช้งานก็ควรที่จะนำมาใช้

 

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาสมาพันธ์นำเสนอแนวคิดและมาตรการในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาต่อเนื่อง จนปัจจุบันการประกาศล็อกดาวน์ครั้งล่าสุด ถือเป็นอีกวิกฤติที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ซึ่งในปีก่อนที่เกิดการล็อกดาวน์รอบแรก

 

หลายธุรกิจยังมีเงินทุนในการบรรเทาและพยุงธุรกิจให้เดินหน้าได้ แต่ในครั้งนี้ตลอดปีเศษที่ผ่านมาต้องแบกรับภาระไว้จำนวนมาก จนปัจจุบันหลายธุรกิจไม่มีสายป่านที่จะมาช่วยพยุงตัวเอง

 

ดังนั้นมาตรการเร่งด่วนที่ภาครัฐ จะต้องพิจารณา ทั้งเรื่องของการพักต้น พักดอก โดยผู้ประกอบการในพื้นที่ล็อกดาวน์ทั้ง 10 จังหวัดควรได้รับการยกเว้นไม่คิดดอกเบี้ยและสามารถพักชำระหนี้ได้เป็นระยะเวลา 3-6 เดือน ซึ่งการพักชำระหนี้ดังกล่าวจะต้องไม่ถูกนำไปพิจารณาเป็นการขาดการชำระหนี้

 

 จนทำให้ถูกลดเครดิต ติดเครดิตบูโร รวมถึงไม่เป็น NPL ขณะที่ค่าใช้จ่ายต่างๆ ยังคงเกิดขึ้นสวนทางกับรายได้ที่ลดลง ดังนั้นการช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายเช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ควรฟรีเป็นระยะเวลา 1-3 เดือน นอกจากนี้ควรมีมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้มีกินมีใช้ และมีเงินในการใช้จ่ายเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบ

 

“ขณะที่แนวทางการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น กลางและยาว หลายปัญหาถูกหยิบขึ้นมาพูดถึง แต่ยังไม่คืบหน้า เช่นเรื่องซอฟต์โลนพูดกันมาหลายครั้ง แต่จนถึงปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอีจำนวนมาก ที่เข้าไม่ถึงซอฟต์โลน ด้วยติดปัญหาหลายๆเรื่อง

 

เช่น ติดเครดิตบูโร, NPL ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผลักดันให้เขาต้องหากู้หนี้นอกระบบ หรือ Po-Invoice Factoring รวมถึงการแก้ปัญหาระยะยาวคือการตั้งกองทุนฟื้นฟู NPLs เพื่อการพัฒนา SMEs ไทย เป็นต้น”

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,697 วันที่ 18 - 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564