ไดมอนด์ เกรนส์ ฮึดสู้โควิด ปั้น 4 แบรนด์ สร้างแหล่งรายได้ใหม่

11 ก.ค. 2564 | 08:13 น.

พิษโควิดป่วนฉุดยอดขายในประเทศร่วง “ไดมอนด์ เกรนส์” ประกาศปิดร้านคาเฟ่ 6 สาขารวด ฮึดสู้ปรับกลยุทธ์หันเปิด 4 แบรนด์ใหม่ ปูพรมรุกตลาดอาหารเพื่อสุขภาพและเพอร์ซันนัลแคร์ ปั้นแหล่งรายได้ใหม่

พิษโควิดป่วนฉุดยอดขายในประเทศร่วง “ไดมอนด์ เกรนส์” ประกาศปิดร้านคาเฟ่ 6 สาขารวด ฮึดสู้ปรับกลยุทธ์หันเปิด 4 แบรนด์ใหม่ ปูพรมรุกตลาดอาหารเพื่อสุขภาพและเพอร์ซันนัลแคร์ ปั้นแหล่งรายได้ใหม่

ไดมอนด์ เกรนส์ ฮึดสู้โควิด ปั้น 4 แบรนด์ สร้างแหล่งรายได้ใหม่
นางชนิสรา วงศ์ดีประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการร่วม บริษัท บรันช์ไทม์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกราโนล่า คลีน แบรนด์ “ไดมอนด์ เกรนส์” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เดิมไดมอนด์ เกรนส์มีแบรนด์ภายใต้บริษัท 2 แบรนด์คือ Diamond Grains ธัญพืชพร้อมทาน และ Diamond Grains Bowl ร้านคาเฟ่เครื่องดื่มโยเกิร์ต ที่มีส่วนผสมกราโนล่า

 

โดยที่ผ่านมา Diamond Grains ได้รับผลกระทบอย่างหนักทั้งการนำเข้าวัตถุดิบ ที่ไม่สะดวก โดยเฉพาะขั้นตอนการทำเอกสารต่างๆที่ล่าช้า ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่วนสต๊อกวัตถุดิบที่มีอายุการเก็บรักษาจำกัดบริษัทจำเป็นต้องยอมขาดทุนขายวัตถุดิบนั้นออกไป

ไดมอนด์ เกรนส์ ฮึดสู้โควิด ปั้น 4 แบรนด์ สร้างแหล่งรายได้ใหม่
ในขณะที่การส่งออกชะงักทั้งระบบ เพราะสินค้าที่ส่งออกค้างอยู่ที่ท่าเรือยังไม่ทันได้ขายก็ต้องตีคืนโดยบริษัทต้องจ่ายค่าขนส่งกลับและนำมาขายลดราคาในราคาหาร 3 เพราะเป็นฉลากส่งออกไม่สามารถขายราคาเดียวกับฉลากไทยได้
นอกจากนี้ในช่วงการระบาดโควิดรอบสอง บริษัทตัดสินใจตัดไฟตั้งแต่ต้นลม โดยปิดร้าน Diamond Grains Bowl ทั้งหมด 6 สาขา เพราะไม่มีกำไรและเดิมเป็นแบรนด์ที่ทำขึ้นมาเพื่อเสริมการตลาดของแบรนด์หลัก

ในส่วนของพนักงานทางบริษัทไม่มีการลดเงินเดือนและพยายามหางานใหม่ๆให้กับพนักงาน โดยเปิดร้านอาหารมังสวิรัติ “ผักฉ่ำ คำหอม” ซึ่งเกิดความตั้งใจแรกเริ่มที่อยากรู้ว่าธุรกิจดีลิเวอรีจะเป็นไปได้จริงหรือไม่ ประกอบกับความถนัดของไดมอนด์ เกรนส์ ที่แบรนด์อื่นทำได้ยาก จนเกิดร้านอาหารไทยมังสวิรัติ ที่ไม่ใช้น้ำมัน แป้ง


นอกจากนี้บริษัทได้เปิดร้านน้ำสมุนไพรสกัดแบรนด์ Aurora’s Potion และจะขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล เช่น ครีมอาบน้ำสมุนไพรต่างๆ ซึ่งกำลังจะเปิดตัวภายในเดือนสิงหาคมนี้ รวมทั้งมีแผนเปิดตัวแบรนด์ไลฟ์สไตล์ Home to My Heart และ Moleculogy เข้ามาเสริมพอร์ต ซึ่งเป็นแบรนด์ เพอร์ซันนัลแคร์ ที่จำเป็นสำหรับคนที่อยู่บ้านสามารถใช้ดูแลสุขภาพความงามของตัวเอง โดยไม่ฟุ่มเฟือยเกินไปกว่าความจำเป็นที่จะใช้ชีวิต เช่น สกินแคร์ เจลล้างหน้า ครีมทาหน้า ครีมกันแดด ที่สามารถใช้ได้ทุกช่วงเวลา


“หากถามว่าทำไมถึงมีแบรนด์ใหม่ออกมาเยอะ เพราะเรามองว่าการอยู่เฉยๆ ไม่รอด เราพยายามมองหาธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาเพื่ออย่างน้อยสามารถเลี้ยงทีมให้ทุกคนรอด ช่วงแรกไม่มีกำไร แต่ทุกคนยังอยู่ได้ ยังมีเงินเดือน จนเริ่มเห็นกำไรในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้เอง ต่อไปบริษัทจะต้องแบ่งกองเพื่อกระจายความเสี่ยงมากขึ้น ถ้าเราพึ่งพาแค่สินค้า 1 ชิ้น ก็กลัวว่าจะไปต่อยาก ช่วงโควิดเราจึงเปิด 4 แบรนด์ใหม่ ที่เปลี่ยนตลาดไปเลย”


นางชนิสรา กล่าวอีกว่า เพราะไม่รู้คำว่าโควิดคลี่คลาย แปลว่าอะไร สำหรับเราคือคนทุกคนเฮลท์ตี้ซึ่งเราคงบอกไม่ได้ว่าแผนในอนาคตวางไว้อย่างไร บอกได้แค่ว่าเราสู้ เพราะเรามีคนต้องดูแลเยอะ แต่ถามว่าคำว่าสู้ต้องเจ็บตัวแค่ไหน ยังตอบไม่ได้ ทุกอย่างคือจ่ายเองหมด ภาษีจ่ายเท่าเดิม ค่าเช่าโรงงานจ่ายเท่าเดิม พนักงานไม่ลดเงินเดือน ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ต่างจากเดิมแค่สภาพข้างนอกเปลี่ยนไป

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,695 วันที่ 11 - 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2564