‘ธุรกิจโรงแรม’วิกฤติหนัก ยอดพักเหลือ 6% จ่อปิดเพิ่ม

19 มิ.ย. 2564 | 13:15 น.

โควิดระลอก 3 ฉุดอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเดือนพ.ค. ต่อเนื่องถึงมิ.ย.เหลืออยู่แค่ 6% มีเพียงโรงแรมที่เข้าร่วมเป็น Hospitel ที่ทรงตัวอยู่ที่ 30% ธุรกิจทยอยปิดกิจการชั่วคราวเพิ่ม ส่วนใหญ่หวังจะกลับมาเปิดอีกครั้งช่วงไตรมาส4ปีนี้

สมาคมโรงแรมไทย เผยโควิดระลอก 3 ฉุดอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเดือนพ.ค. ต่อเนื่องถึงมิ.ย.เหลืออยู่แค่ 6% มีเพียงโรงแรมที่เข้าร่วมเป็น Hospitel ที่ทรงตัวอยู่ที่ 30% ธุรกิจทยอยปิดกิจการชั่วคราวเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่หวังจะกลับมาเปิดอีกครั้งได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ วอนรัฐหนุนโค-เปย์ จ่ายเงินเดือนคนละครึ่ง พยุงการจ้างงาน

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” สมาคมโรงแรมไทยประกาศผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการโรงแรมเดือนพ.ค.64 และขอภาครัฐช่วยเหลือมาตรการเร่งด่วนจากผลกระทบของโควิด-19 ระลอก 3 ซึ่งจากการสำรวจโรงแรมที่ให้บริการปกติ โรงแรมที่อยู่ใน ASQ และโรงแรมที่เข้าร่วมเป็น Hospitel รวมกว่า 234 แห่ง พบว่าภาพรวมของธุรกิจในเดือนพ.ค.64 ถือว่าแย่กว่าเดือนเม.ย. 64

ทั้งนี้พบว่าเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น ทำให้โรงแรมจำนวนมาก คิดเป็นสัดส่วนกว่า 57% ถูกยกเลิกการจองห้องพักไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง โดยภาคกลางมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 10% และภาคใต้มีอัตราการเข้าพักลดลงมาก จากเดือนเม.ย. 2564 เฉลี่ยที่ 23% คงเหลือเพียง 3% เท่านั้น ทั้งคาดการณ์ว่าในเดือนมิ.ย. 64 จะยังไม่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้อัตราการเข้าพักทรงตัวอยู่ที่ 6% เท่ากับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยโดยรวมเดือนพ.ค. 64

ขณะที่อัตราการการจองเข้าพักของโรงแรมที่เป็น ASQ ก็ลดลงต่ออย่างเนื่อง มาอยู่ที่ 13% และคาดการณ์ว่าอัตราการเข้าพักในเดือนมิ.ย. 64 จะลดลงอยู่ที่ 10% ซึ่งการฟื้นตัวของรายได้ ก็ไม่แตกต่างจากโรงแรมที่ไม่เป็น ASQ มากนัก ส่วนโรงแรมที่เข้าร่วมเป็น Hospitel อัตราการเข้าพักจะสูงกว่าโรงแรมประเภทอื่น และทรงตัวที่ 30% และมีการฟื้นตัวของรายได้ดีกว่าเล็กน้อย แต่ก็ยังกลับมาไม่ถึงครึ่งของช่วงก่อนเกิดโควิด-19

สำหรับสถานะกิจการก็จะเห็นว่าในเดือนพ.ค. 64 มีโรงแรมเปิดกิจการปกติลดลงและมีการ ปิดกิจการชั่วคราวเพิ่มขึ้นกว่าเดือนเม.ย. 64 โดยในเดือนพ.ค. 64 มีโรงแรมเพียง 38% ยังคงเปิดกิจการ ที่เหลือ 41% เปิดกิจการเป็นบางส่วน และอีก 20% ที่ยังปิดกิจการอยู่ชั่วคราว แต่คาดว่าโรงแรมส่วนใหญ่คาดว่าจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งในไตรมาส 4 ปี 64 เป็นต้นไป

ในแง่ของการสร้างรายได้พบว่ากว่า 63% ของโรงแรมที่ยังคงเปิดกิจการอยู่ มีรายได้ยังกลับมาไม่ถึง10%เมื่อเทียบกับพ.ค.62 (ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19) แต่มีโรงแรมเพียง 18% ที่รายได้กลับมาเกินครึ่งของช่วงเกิด โควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมใหญ่ที่บริหารโดยเชนจากต่างประเทศ

จากอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ลดน้อยลงและมีโรงแรมปิดชั่วคราวเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ทำให้การจ้างงาน ณ เดือนพ.ค. 64 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 51% ของช่วงก่อนเกิดโควิดเท่านั้น ‘ธุรกิจโรงแรม’วิกฤติหนัก ยอดพักเหลือ 6% จ่อปิดเพิ่ม

นางมาริสา กล่าวต่อว่า สิ่งที่สมาคมต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐมากในขณะนี้ได้แก่ 1.ขอให้รัฐบาลสนับสนุนค่าจ้างแรงงานคนครึ่งร่วมกับผู้ประกอบการในธุรกิจโรงแรม (โค-เปย์) ฝั่งละ 7,500 บาทต่อเดือน สำหรับค่าจ้างแรงงานไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน จากพนักงานโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องที่มีทั้งหมดราว 4.5 แสนคน

เพราะแม้โรงแรมจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่แต่ก็ได้รับผลกระทบมาก จากต้นทุนที่สูงมากโดยเฉพาะค่าจ้างพนักงาน ซึ่งตอนนี้แทบไม่ไหวกันแล้ว จนมีการทยอยปิดกิจการชั่วคราวเพิ่มขึ้น ถ้ารัฐบาลจะสนับสนุนโคเพย์เม้นท์เพื่อช่วยจ่ายให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอีก็ควรมองถึงธุรกิจโรงแรมด้วย เพราะมีการจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก และได้รับผลกระทบมากเช่นกัน

2.ขอให้มีการจัดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการโรงแรมในพื้นที่อื่นๆนอกเหนือจากภูเก็ต เพื่อให้เข้าตามมาตรฐาน SHA Plus ในการสร้างจุดขายในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3.ขอให้พิจารณาถึงการลดจำนวนวันที่นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วสามารถเดินทางออกจากภูเก็ตได้จาก 14 วันเหลือ 7 วัน 4.ขอให้มีการเร่งการฉีดวัคซีนในพื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ

ในส่วนของมาตรการ พักทรัพย์ พักหนี้ Asset Warehousing จากการสำรวจพบว่ามีโรงแรมที่สนใจและเข้าเงื่อนไขมาตรการนี้มี 62 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมในภาคใต้และเป็นโรงแรมที่เปิดกิจการเพียงบางส่วน โดยใน 62 แห่งนี้กำลังอยู่ระหว่างตัดสินใจ 34 แห่ง อยู่ระหว่างการติดต่อประสานงาน 22 แห่งได้รับอนุมัติแล้ว 4 แห่ง ถูกปฏิเสธ 2 แห่ง ขณะที่โรงแรมส่วนใหญ่ที่ไม่สนใจเข้าร่วมมาตรการนี้ เพราะมองว่ามีข้อจำกัดที่สำคัญ อาทิความชัดเจนว่าจะได้สินเชื่อเพื่อซื้อทรัพย์คืน ราคารับตีโอนต่ำทำให้ปิดภาระหนี้ไม่ได้ ค่าเช่าสูงเกินไป ไม่คุ้มค่าทางธุรกิจ เป็นต้น

ข่าวเกี่ยวข้อง: