นำร่อง“ธุรกิจน้ำแร่ร้อน” เพิ่มรายได้ชุมชน

27 พ.ค. 2564 | 04:17 น.

"สนค.นำร่องเสริมแกร่ง “ธุรกิจน้ำแร่ร้อน” ระนอง-แม่ฮ่องสอน เพิ่มรายได้ชุมชน"ส่งทีมช่วยพัฒนาสินค้า บริการ เพิ่มโอกาสทางการตลาด มั่นใจสร้างความเข้มแข็งและและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนได้เพิ่มขึ้น 

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ. สนค.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2564 สนค. ได้จัดทำโครงการเชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนกับห่วงโซ่บริการยุคใหม่ ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพการค้าและบริการเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากไทย โดยมีศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษาโครงการ มีเป้าหมายเพื่อยกระดับและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพาณิชย์เข้าไปช่วยเหลือและพัฒนาภาคบริการ โดยเฉพาะภาคบริการในชุมชน ที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ของประเทศให้มีความเข้มแข็ง และสอดรับกับแนวโน้มการค้าในยุค New Normal

          โดยการดำเนินโครงการในปีนี้ สนค. ได้เน้นธุรกิจบริการดูแลรักษาสุขภาพ (Wellness) เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการไทยมีความโดดเด่นในระดับโลก และเป็นสาขาบริการที่สามารถผสมผสานการผลิตสินค้าที่ใช้วัตถุดิบ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความคิดสร้างสรรค์ และการให้บริการที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยมาปรับใช้ได้ และยังสอดคล้องกับนโยบายศูนย์กลางการบริการสุขภาพและการแพทย์นานาชาติ (Medical and Wellness Hub) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Tourism Hub)

นำร่อง“ธุรกิจน้ำแร่ร้อน”  เพิ่มรายได้ชุมชน

 

 

“ได้คัดเลือกจังหวัดระนองและแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดต้นแบบ เพราะเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีน้ำแร่และผลิตภัณฑ์จากน้ำแร่เป็นตัวชูโรงด้านสุขภาพ โดยได้นำร่องธุรกิจน้ำแร่ร้อน มาเป็นกลุ่มธุรกิจบริการชุมชนต้นแบบ มีทั้งตัวสินค้า คือ น้ำแร่บริสุทธิ์ ปราศจากกำมะถัน จากบ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติที่สามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ เช่น สบู่น้ำแร่ ครีมทาหน้าน้ำแร่ สเปรย์น้ำแร่ เชื่อมโยงกับบริการท่องเที่ยวและบริการสุขภาพได้”นายภูสิตกล่าว

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือ สนค. จะร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าไปช่วยพัฒนาสินค้าและบริการของผู้ประกอบการในชุมชน โดยได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนแผนงานไปสู่การปฏิบัติจริง มีกลยุทธ์สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ (1) ยกระดับการให้บริการ Wellness และการผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง (2) เสริมความสามารถด้านการตลาดและการค้าสู่สากล (3) พัฒนาทักษะทรัพยากรมนุษย์ และ (4) สร้างความเข้มแข็งของการจัดการและกิจการสนับสนุน และจะขยายโมเดลธุรกิจการพัฒนานี้ไปยังธุรกิจบริการอื่นที่คล้ายคลึงกันหรือไปยังพื้นที่อื่นด้วย

ทั้งนี้ สนค. มั่นใจว่าการจัดทำโครงการดังกล่าว จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มรายได้ให้กับชุมชน เพราะมีความเกี่ยวข้องกับประชาชนไทยจำนวนมาก และมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยหากสามารถพัฒนาภาคธุรกิจบริการระดับชุมชนให้มีศักยภาพและมีความเข้มแข็ง จนสามารถเข้าร่วมอยู่ในห่วงโซ่การผลิตและการค้าของประเทศได้ ในอนาคตก็มีโอกาสที่จะก้าวไปสู่ห่วงโซ่การค้าโลกได้

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเอกลักษณ์โดดเด่นในธุรกิจสปา มีกิจการที่อยู่ในกลุ่มนี้เกือบ 1400 กิจการ ซึ่งจำนวนนี้เป็นกิจการขนาดเล็กกว่า 1300 ราย (ยังไม่นับรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกิจการร้านค้าเจ้าของคนเดียว) คิดเป็นทุนจดทะเบียนรวม กว่า 8 พันล้านบาท