โรงงานร้องจ๊าก ถูกชาร์จค่านํ้าอ่วม

22 มี.ค. 2564 | 20:05 น.

ผ่าโมเดลเก็บค่าน้ำสาธารณะ 22 ลุ่มนํ้า ภาคอุตฯอ่วม จ่อถูกเก็บแบบขั้นบันได บิ๊กสภาอุตฯ-สภาหอฯ ประสานเสียงค้าน ชี้เก็บโหด ทำต้นทุนพุ่ง ธุรกิจเสี่ยงเจ๊งซ้ำพิษโควิด จี้ทบทวน

 

พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ประกอบด้วย 9 หมวด และบทเฉพาะกาล 106 มาตรา เป็นกฎหมายว่าด้วยการทรัพยากรน้ำฉบับแรกของประเทศไทย มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบบูรณาการ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 เว้นแต่บทบัญญัติในหมวด 4 เรื่องการจัดสรรน้ำ และการใช้น้ำ และบทเฉพาะกาลมาตรา 104 ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี ล่าสุดครบกำหนดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา

 

อัพเดทใช้น้ำ 3 ประเภท

ทั้งนี้ในหมวด 4 มาตรา 41 การใช้น้ำทรัพยากรน้ำสาธารณะ แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การใช้น้ำประเภทที่หนึ่ง ได้แก่การใช้น้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน การรักษาระบบนิเวศ จารีตประเพณี การบรรเทาสาธารณภัย การคมนาคม และการใช้น้ำปริมาณเล็กน้อย บทสรุปคือได้ใช้น้ำฟรีไม่ต้องขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำ และไม่ต้องชำระค่าใช้น้ำ

 

ส่วนน้ำประเภทที่สอง ได้แก่การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่นๆ และ น้ำประเภทที่ 3 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง สถานะล่าสุดกฎกระทรวงต่างๆ ที่กำกับโดย 3 หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ประกอบด้วย กรมทรัพยากรน้ำ, กรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จำเป็นที่จะต้องออกอนุบัญญัติให้สอดคล้องตาม พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มีความคืบหน้าตามลำดับ

 

เรียกเก็บแบบขั้นบันได

อธิวัฒน์ สุคนธประดิษฐ

 

นายอธิวัฒน์ สุคนธประดิษฐ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภารกิจของกรมทรัพยากรน้ำ ภายใต้หมวด 4 (การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ) ของพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ได้ว่าจ้าง สำนักศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการจะแล้วเสร็จสิ้นเดือนเมษายนนี้ เบื้องต้นการกำหนดอัตราค่าใช้น้ำสาธารณะ 3 ประเภท ในส่วนของภาคเกษตรที่เข้าข่ายเกษตรพาณิชย์-อุตสาหกรรม จะเก็บค่าน้ำจากเกษตรกรที่ถือครองที่ดินตั้งแต่ 66 ไร่ขึ้นไป

 

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรม โรงแรม ท่องเที่ยว และรีสอร์ท (ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตใช้น้ำประเภทที่สอง) จะมีการกำหนดการจัดเก็บในอัตราต่างกัน ตัวอย่าง กรณีที่มีปริมาณการใช้น้ำไม่เกิน 45,000 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อเดือน ให้ชำระตามอัตราค่าใช้น้ำพื้นฐาน แต่หากมีปริมาณการใช้น้ำตั้งแต่ 45,001 แต่ไม่เกิน 90,000 ลบ.ม.ต่อเดือน ให้ชำระเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ10 ของอัตราค่าใช้น้ำพื้นฐาน และกรณีที่มีปริมาณการใช้น้ำเกินกว่า 90,000 ลบ.ม.ต่อเดือน ให้ชำระเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20 ของของอัตราค่าใช้น้ำพื้นฐาน

 

ส่วนผู้ได้รับใบอนุญาตใช้น้ำประเภทที่สาม ตัวอย่างกรณี,ใช้น้ำตั้งแต่ 90,000 แต่ไม่เกิน 135,000 ลบ.ม.ต่อเดือน ให้ชำระเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ40 ของอัตราค่าใช้น้ำพื้นฐาน และกรณีที่มีปริมาณการใช้น้ำเกินกว่า 135,001 ลบ.ม.ต่อเดือนขึ้นไป ให้ชำระเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 50 ของอัตราค่าใช้น้ำพื้นฐาน (กราฟิกประกอบ)

 

“การใช้น้ำทั้ง 3 ประเภท กำลังจัดรับฟังความคิดเห็นในภูมิภาคต่างๆ ยังไม่ได้ข้อสรุป ต้องกลับมาประชุม กับ สทนช.และ อีก 2 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ว่าในแต่ละลุ่มน้ำจะใช้อัตราเดียวกัน หรือราคาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนในแต่ละปี”


โรงงานร้องจ๊าก ถูกชาร์จค่านํ้าอ่วม

บิ๊กเอกชนรุมค้าน

สุพันธุ์ มงคลสุธี

 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ทาง ส.อ.ท. ไม่เห็นด้วยกับอัตราค่าใช้น้ำข้างต้น เสนอให้มีการทบทวนตัวเลขต่าง ๆ จากจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต ของภาคอุตสาหกรรมที่จะมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นมากเช่น โรงจัดหาหรือจำหน่ายน้ำ เยื่อและกระดาษ ผลิตไฟฟ้า เคมีและปิโตรเคมี โรงกลั่น น้ำมัน ยาง ปูนซีเมนต์ อาหารและเครื่องดื่ม ที่มีการใช้น้ำในปริมาณสูงมากกว่า 45,000 ลบ.ม.ต่อวัน ไม่ใช่ 45,000 ลบ.ม.ต่อเดือน

 

“การกำหนดอัตราค่าใช้น้ำประเภท 2 และ 3 ควรกำหนดเป็นค่าเดียว (ไม่ใช่แบบขั้นบันได) และอัตราค่าใช้น้ำประเภท 2 และ 3 ควรมีราคาที่เท่ากัน ปัจจุบันค่าใช้น้ำ ที่กลุ่มอุตสาหกรรมจ่าย อาทิ กรมชลประทาน ค่าน้ำ 50 สตางค์ ต่อลูกบาศ์ก์เมตร,อีสต์วอร์เตอร์ 11.50-12.50 บาทต่อลูกบาศก์เมตร และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด หากเป็นน้ำดิบ ราคา 14-16 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ถ้าเป็นน้ำประปา จะอยู่ที่ 23-24 บาทต่อลูกบาศก์เมตร

 

ทั้งนี้การกำหนดค่าใช้น้ำในกฎหมายใหม่ การแข่งขันจะสู้เพื่อนบ้านไม่ได้ เช่น “เวียดนาม” มีค่าใช้น้ำประปาสำหรับภาคอุตสาหกรรมเพียง 15-20 บาทต่อ ลบ.ม. "เมียนมา" 24 บาทต่อ ลบ.ม. และ "ลาว" ประมาณ 15 บาทต่อลบ.ม. หากมีต้นทุนเพิ่มจากใช้น้ำแหล่งน้ำสาธารณะ จะกระทบต่อผู้บริโภคสินค้าต่อไป

 

กลินทร์ สารสิน

 

เช่นเดียวกับนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า ไม่เห็นด้วย การจัดเก็บอัตราค่าน้ำโหดมาก เป็นการเพิ่มภาระต้นทุนโดยเฉพาะโรงแรมที่เวลานี้ สถานะย่ำแย่มาจากผลกระทบโควิด หากมีต้นทุนเพิ่มอีกเจ๊งแน่นอน

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,663 วันที่ 21 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2564 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘เก็บค่าใช้น้ำ’ มาแล้ว ‘เกษตรพาณิชย์-อุตฯ-บริการ’ โดน

“เกษตรกร” ที่มีที่ดินเกิน 63 ไร่ ต้องเสียค่าน้ำ

จ่อชง กนช.เก็บค่าน้ำสาธารณะทั่วไทย