TCELS ร่วมมือ 2 บริษัทสตาร์ทอัพ พัฒนาเทคโนโลยีระดับยีนและโครโมโซม

20 เม.ย. 2559 | 10:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

TCELS MOU3   ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เปิดเผยว่า  ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS)  บริษัท ลีดเดอร์ เมดิคอล เจเนติกส์ แอนด์ จีโนมิกส์ จำกัด (LMGG) และบริษัท ศูนย์พันธุศาสตร์การแพทย์ จำกัด (MGC)  ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน พัฒนามาตรฐาน และส่งต่องานบริการที่เกี่ยวกับการทดสอบพันธุกรรมทางการแพทย์ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพบุคลากรในด้านดังกล่าว ให้มีคุณภาพและมาตรฐาน รองรับงานบริการได้อย่างเพียงพอและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล อีกทั้งเพื่อทดแทนการนำเข้าการให้บริการจากต่างประเทศ

อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เป็น 1 ใน 10อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่รัฐบาลใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในส่วนของ TCELS ให้การสนับสนุนการวิจัยทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง โดยทำงานในเชิงประชารัฐ คือร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน และภาคสังคม ซึ่งทั้งบริษัท LMGG และ MGC ก็เกิดจากการสนับสนุนของ TCELS มาตั้งแต่เริ่มแรกที่อยู่ในภาครัฐ จนพัฒนามาเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในวงการการแพทย์ไทย ที่จะนำไปสู่การพัฒนามาตรฐานทั้งระบบของการให้บริการตรวจโรคทางพันธุกรรม ซึ่งเป็นแนวทางการป้องกันและการรักษาโรคแนวใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ ขณะเดียวกันจะเป็นต้นแบบให้กับผู้ที่สนใจเข้าสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีด้วย

“ประโยชน์ของงานบริการที่เกี่ยวกับการทดสอบพันธุกรรมทางการแพทย์นั้น มีกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมเกือบทั้งหมดกับประชากรทุกระดับอาชีพในทุกกลุ่มอายุตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงผู้สูงอายุ สำหรับสถานพยาบาลที่มีความประสงค์จะขอรับการสนับสนุนเทคโนโลยีการดูแลรักษาผู้ป่วย ตลอดจนบริษัทที่ต้องการเข้าร่วมเครือข่ายในเบื้องต้นสามารถติดต่อมาได้ที่Hotline TCELS 02-6445499 กด 1” ผอ.TCELS กล่าว

นายแพทย์โอบจุฬ ตราชู ประธานกรรมการบริหาร บริษัท LMGG จำกัด กล่าวว่า บริษัท LMGG มีเทคโนโลยีที่สามารถให้บริการตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรมในครอบครัว ครอบคลุมการคัดกรองพาหะโรคพันธุกรรม เช่น โรคที่จะก่อให้เกิดความพิการและทุพพลภาพต่าง ๆ ในทารก รวมถึงการวินิจฉัยโรคพันธุกรรมและโรคหายากต่าง ๆ เช่น โรคธาลัสซีเมีย โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคไหลตาย โรคจอประสาทตาเสื่อมจากพันธุกรรมและกลุ่มมะเร็งที่ถ่ายทอดในครอบครัว เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งไทรอยด์ เป็นต้น

โรคพันธุกรรมก่อให้ความสูญเสียในครอบครัวค่อนข้างสูง แต่เทคโนโลยีทางพันธุศาสตร์จะช่วยป้องกันการเกิดโรคซ้ำในครอบครัวได้โดยการช่วยวางแผนการดำเนินชีวิตในครอบครัวและสามารถช่วยคัดกรองยีนในตัวอ่อนจากการทำเด็กหลอดแก้ว  เพื่อช่วยให้คู่สมรสมีบุตรที่ปลอดจากโรคพันธุกรรมด้วย

ด้านนายแพทย์วีรยุทธ ประพันธ์พจน์ ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการ บริษัท MGC กล่าวว่า บริษัท MGC ดำเนินการด้านการให้บริการตรวจทางพันธุศาสตร์ทางการแพทย์ มากว่า 3 ปี ภายใต้มาตรฐาน ISO 15189: 2012และ15190: 2003 จากการสนับสนุนการจัดตั้งและดำเนินการโดย TCELS โดยมีเทคโนโลยี ที่สามารถให้บริการตรวจวินิจฉัยพันธุกรรมทารกในครรภ์โดยสามารถตรวจโครโมโซมจากสิ่งส่งตรวจ เช่น เลือด และน้ำคร่ำ จากมารดา เช่น โรค Down’ syndrome, Patau Syndrome และ Edward Syndrome เป็นต้นนอกจากนี้ยังให้บริการตรวจทางจีโนม สำหรับการคัดกรองความผิดปกติของทารกในครรภ์มารดาจากการวิเคราะห์ดีเอ็นเอของลูกที่ปนอยู่ในเลือดแม่ รวมถึงบริการตรวจความผิดปกติ ของตัวอ่อนที่ได้จากเทคโนโลยีการผสมเทียม เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือก และย้ายฝากตัวอ่อน และยังให้บริการสนับสนุนทางด้านการศึกษา และการวิจัยทางพันธุศาสตร์การแพทย์อีกด้วย