ล็อกซเล่ย์รื้อใหญ่ล้างหนี้สู้ดิสรัปต์

23 ธ.ค. 2562 | 23:00 น.

“ล็อกซเล่ย์” รื้อองค์กรรับมือดิจิทัลดิสรัปชั่น ล้างตัวเลขขาดทุน ดัน “สุรช ลํ่าซำ” ขึ้นกุมบังเหียน พร้อมลดคนเก่าดันคนรุ่นใหม่บริหารแทน ตั้งเป้าปีหน้าลดค่าใช้จ่าย 200 ล้านบาท เดินหน้ามุ่งธุรกิจอนาคต ไอที พลังงาน เน็ตเวิร์กโซลูชัน บริการ และอาหารและการจัดจำหน่าย

 

 

นายสุรช ลํ่าซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า
ล็อกซเล่ย์ ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ทั้งผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลกและภายในประเทศ การแข่งขันที่รุนแรง และกระแสดิจิทัล ดิสรัปชัน ตลอดจนแก้ปัญหาขาดทุนของบริษัทที่มีตัวเลขขาดทุนในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา 800 ล้านบาท ที่มีสาเหตุหลักมาจากโครงการสายพานลำเลียง ที่ทำให้ AOT มีการเปลี่ยนแปลงแบบของโครงการ, เปลี่ยนแปลงอุปกรณ์หลักที่มีนัยสำคัญ และการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า

“เราจำเป็นต้องปรับตัวไม่อย่างนั้นอยู่ไม่ได้ โลกเปลี่ยน ธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับพฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป วันนี้บางธุรกิจของเราได้รับผลกระทบจากไลน์แมน และแกร็บฟู้ด”

การปรับโครงสร้างองค์กรที่ชัดเจน ได้แก่ การปรับโครงสร้างคณะกรรมการ จากเดิมที่มีคณะกรรมการบริหาร 3 คณะ คือ คณะกรรมการจัดการ คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการบริษัท มาเป็นโครงสร้างใหม่คือ การควบรวมคณะกรรมการจัดการและคณะกรรมการบริหารเข้าด้วยกัน พร้อมกับลดจำนวนคณะกรรมการ

นอกจากนี้ยังได้ปรับลดเงินเดือนผู้บริหารลง 35% และลดจำนวนพนักงานเหลือ 600 คน จากเดิม 750 คน ผลักดันคนรุ่นใหม่ขึ้นมาบริหาร เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างองค์กรและการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป การลดความซํ้าซ้อนของงาน เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไร และปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น โดยคาดว่าปี 2563 บริษัทจะสามารถลดค่าใช้จ่ายไปประมาณ 200 ล้านบาท

บริษัทยังได้จัดตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการและการลงทุนขึ้นมาใหม่  ทำหน้าที่ในการพิจารณาการลงทุนและการเข้าประมูลในโครงการต่างๆ โดยมุ่งเน้นเฉพาะธุรกิจหลักที่มีความเชี่ยวชาญ และทำกำไรได้อย่างแท้จริง เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ

นายสุรช กล่าวต่อไปว่าสำหรับบริษัทที่มุ่งเน้น คือ กลุ่มไอที ผ่านบริษัท ล็อกซบิท จำกัด (มหาชน) ที่ให้บริการไอทีโซลูชันกับโครงการภาครัฐ และธุรกิจการเงินการธนาคาร เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ และมีโครงการที่มีโอกาส และแบ็กล็อก อยู่ 7,000-8,000 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจอาหารและการจัดจำหน่าย โดยจะมุ่งเน้นช่องทางการกระจายอาหารมากขึ้น ส่วนจัดจำหน่าย บริษัท ล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้งฯ ยังคงเป็นแกนหลักขายสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งธุรกิจกลุ่มนี้สร้างรายได้ให้บริษัท 20%

ธุรกิจบริการรักษาความปลอดภัยภายใต้บริษัทรักษาความปลอดภัย เอเอสเอ็ม แมเนจเมนท์ จำกัด (ASM) โดยได้บริหาร 2 สนามบินหลักของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) คือ สุวรรณภูมิ และภูเก็ต รวมถึงสนามบินกระบี่ และอุดรธานี อย่างไรก็ตาม AOT จะเข้ามาดูแลด้านระบบรักษาความปลอดภัยสนามบินเอง ภายใต้ บริษัทรักษาความปลอดภัย ท่าอากาศยานไทย จำกัด (AOT AVSEC) ซึ่งบริษัทได้เข้าไปถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว 40%

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มธุรกิจพลังงาน ผ่านบริษัทล็อกซเล่ย์ เพาเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด  โดยให้บริการวางสายส่ง และเป็นผู้รับเหมาออกแบบ การบริหารจัดการโรงไฟฟ้า (EPC) โดยบริษัทดังกล่าวมีโอกาสเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า

สุดท้าย คือ กลุ่มเน็ตเวิร์กโซลูชัน โดยล็อกซเล่ย์ เป็นผู้ให้บริการเปลี่ยนเครื่องส่งสัญญาณโทรทัศน์เป็นดิจิทัลให้กับช่อง 5, 9, 11 ซึ่งกลุ่มธุรกิจยังมีโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงระบบวิทยุ ไปสู่ดิจิทัลเรดิโอ 

บาท หน้า 15 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3533 วันที่ 22-25 ธันวาคม 2562