“จุรินทร์” เร่งแก้วิกฤตเหล็กไทย เร่งออกกฎหมายลูกบังคับใช้

22 ส.ค. 2562 | 11:32 น.

จุรินทร์ เดินหน้าแก้วิกฤติเหล็กไทย เร่งออกกฎหมายลูกบังคับใช้  หลังพ.ร.บ.ตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนฉบับแก้ไขปี 2562 จะประกาศใช้พ.ย.นี้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  กล่าวภายหลัง การหารือกับสมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์ตไฟฟ้า สมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย และสมาคมโลหะไทย ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อหารือ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหล็กไทยและมาตรการแก้ไข รวมทั้งการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและแจ้งถึงผลกระทบต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยสาเหตุของวิกฤตอุตสาหกรรมเหล็กไทยว่ากระทรวงพาณิชย์ได้ได้รับทราบปัญหา และพร้อมจะดำเนินการเร่งรัดโดยเฉพาะประเด็นความล่าช้าของกฏหมายคือพระราชบัญญัติตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน ปี 2542 ที่อยู่ระหว่างการปรับแก้ไขเป็นฉบับปี 2562 ให้พร้อมใช้ตามกำหนดภายในเดือนพฤศจิกายน 2562  รวมถึงการปรับแก้กระบวนการต่าง ๆ ให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศให้มีเครื่องมือในการต่อสู้กับมาตรการการทุ่มตลาดจากต่างประเทศ

“จุรินทร์” เร่งแก้วิกฤตเหล็กไทย  เร่งออกกฎหมายลูกบังคับใช้

ทั้งนี้อุตสาหกรรมเหล็กถือเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก มีมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมรวมสองแสนกว่าล้านบาท มีผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก 472 บริษัท และมีการจ้างงานรวมกันกว่าแสนราย ปัจจุบันไทยถูกจัดว่าเป็นผู้นำเข้าสุทธิรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ปี 2561 ไทยมีปริมาณการบริโภคสินค้าเหล็ก 19.3 ล้านตัน เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศเพียง 7.3 ล้านตัน อุตสาหกรรมในประเทศมีการใช้อัตรากำลังการผลิตเพียง 38% เท่านั้น

ทั้งนี้การกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาของอุตสาหกรรมเหล็กไทยในปัจจุบันที่มีปัญหาเรื่องโอเวอร์ ซัพพลาย ในเหล็กบางประเภท จนถึงขั้นวิกฤตจากสาเหตุต่าง ๆเช่น ประเทศจีน ที่ดำเนินนโยบายช่วยอุดหนุนอุตสาหกรรมเหล็ก (China Subsidy) ในประเทศจำนวนมาก ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าความเป็นจริง การเข้ามาขยายตลาดในประเทศไทยของประเทศจีนและอินเดีย รวมถึงปัจจัยทางด้านสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา และมาตรการเซฟการ์ดของอียู (EU Safeguard) กับสินค้าเหล็ก 28 รายการ ปัจจัยทั้งหมดนี้จึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ ที่กำลังการผลิตมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

“จุรินทร์” เร่งแก้วิกฤตเหล็กไทย  เร่งออกกฎหมายลูกบังคับใช้