แล้งฉุดจีดีพีเกษตร ไตรมาสแรกหด 2.1 

24 มี.ค. 2559 | 07:09 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

 

สศก. แถลงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาสแรก  เผยเอลนีโญส่งผลปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ ฉุดภาคเกษตรหดตัว 2.1 โดยเฉพาะสาขาพืช สาขาประมง และสาขาบริการทางการเกษตร ขณะที่สาขาปศุสัตว์ และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น  แจงราคาสินค้าเกษตรหลายชนิด มีแนวโน้มลดลงตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก คาดแนวโน้มทั้งปี 59 ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.8 – 2.8

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1 ปี 2559  พบว่า หดตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยสาขาการผลิตที่หดตัว ได้แก่ สาขาพืช สาขาประมง และสาขาบริการทางการเกษตร ขณะที่สาขาปศุสัตว์ และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยปัจจัยลบที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาสแรกของปีนี้หดตัว คือ ปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ ก่อให้เกิดภาวะแห้งแล้งในหลายพื้นที่ของประเทศตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี 2559 และปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนหลักต่างๆ อยู่ในเกณฑ์น้อยมาก ซึ่งกรมชลประทาน จำเป็นต้องควบคุมและจัดสรรการใช้น้ำเพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภค รวมถึงการรักษาระบบนิเวศก่อน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชหลายชนิด ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง และหากพิจารณา เป็นรายสาขา พบว่า

สาขาพืช ไตรมาส 1 ปี 2559 หดตัวร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีผ่านมา โดยผลผลิตพืชที่ลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และลำไย สำหรับผลผลิตพืชที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สับปะรดโรงงาน และยางพารา  ด้านราคา พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2559 สินค้าพืชที่มีราคาเฉลี่ยลดลง ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ยางแผ่นดิบ ปาล์มน้ำมัน และลำไย ส่วนสินค้าพืชที่มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น คือ สับปะรดโรงงาน

สาขาปศุสัตว์ ไตรมาส 1 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยภาวะการผลิตปศุสัตว์ในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี มีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน มีการดูแลและเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง และความต้องการของตลาดยังคงขยายตัว ซึ่งแม้สภาพอากาศที่แปรปรวนจะกระทบต่อการเติบโตของสัตว์อยู่บ้าง แต่ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตเพียงเล็กน้อย ทำให้ปริมาณผลผลิตไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ ยังคงเพิ่มขึ้น ด้านราคา สินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่มีราคาเฉลี่ยสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2559 ราคาเฉลี่ยของสุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ เพิ่มขึ้น ส่วนไก่เนื้อมีราคาลดลง

สาขาประมง ไตรมาส 1 ปี 2559 หดตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือที่สำคัญหลายท่าลดลงจากการประกาศบังคับใช้กฎหมายประมง เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) หลังจากสหภาพยุโรปประกาศให้ใบเหลืองทำให้เรือประมงขนาดเล็กและเรือประมงพาณิชย์บางส่วนต้องหยุดการทำประมงและจอดเรือเทียบท่า แม้ว่าภาครัฐจะเร่งช่วยเหลือเยียวยา แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงได้รับความเดือดร้อน ซึ่งผลดังกล่าวยังส่งกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมประมงทั้งระบบด้วย  ด้านราคา ราคากุ้งขาวแวนนาไม ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 เนื่องจากปริมาณผลผลิตกุ้งที่ออกสู่ตลาดมีมากเกินความต้องการของผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำซึ่งได้ปิดตัวไปหลายรายจากปัญหาโรคตายด่วนและปัญหาแรงงานผิดกฎหมายในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการกดราคารับซื้อกุ้งจากเกษตรกร นอกจากนี้ ประเทศคู่ค้าที่สำคัญได้หันไปนำเข้ากุ้งจากเวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซีย และเอกวาดอร์ ทดแทน ส่งผลให้ราคากุ้งในประเทศลดลงด้วย

สาขาบริการทางการเกษตร ไตรมาส 1 ปี 2559 หดตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558เนื่องจากการจ้างบริการเตรียมดิน และการเกี่ยวนวดข้าวลดลง โดยเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปรังลดลง จากปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในเขื่อนหลักมีปริมาณน้อย ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ประกอบกับการใช้บริการรถเก็บเกี่ยวอ้อยลดลงเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตอ้อยได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้สาขาบริการทางการเกษตรลดลง

สาขาป่าไม้ ไตรมาส 1 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยผลผลิตไม้ยูคาลิปตัส และไม้ยางพารา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับไม้ยูคาลิปตัส เพิ่มขึ้นจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมกระดาษและการก่อสร้างต่าง ๆ ขณะที่ไม้ยางพาราเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายการตัดโค่นสวนยางพาราเก่าของ กยท. เพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีหรือพืชอื่น สำหรับการผลิตถ่านไม้ ครั่งเม็ดและครั่งดิบ มีปริมาณลดลงเป็นผลมาจากความแห้งแล้ง

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.8 – 2.8 โดยสาขาพืช ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.2 – 3.2 สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 – 2.5 สาขาประมง ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 – 1.5 สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.3 – 1.3 และสาขาป่าไม้ ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.3 – 3.3 โดยปัจจัยบวก คือ ราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง หรือไม่ปรับขึ้นมากนัก ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย (ต้องพิจารณาถึงค่าเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งขันด้วย) และการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรต่าง ๆ ของภาครัฐ เช่น การลดต้นทุนการผลิต ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เขตเกษตรเศรษฐกิจ (zoning) เกษตรอินทรีย์ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ธนาคารสินค้าเกษตร การพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (National Single Window: NSW) รวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จะช่วยสนับสนุนให้การผลิตสินค้าเกษตรมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว จะทำให้ความต้องการสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยชะลอตัวลงด้วย โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญ ได้ดำเนินนโยบายการปฏิรูปประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยเน้นการปฏิรูปทาง supply side เพื่อลดปัญหาอุปทานล้นตลาดในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการปฏิรูปดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังการผลิตและราคาสินค้าเกษตรของไทยด้วย