EXIM BANK พัฒนาบริการหนุนเอสเอ็มอีส่งออก CLMV

02 พ.ค. 2562 | 06:13 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ธสน.เดินหน้าพัฒนาสินเชื่อครบวงจรส่งออกและนำเข้า  ระบุให้สิทธิพิเศษเอสเอ็มอีที่นำสินค้าไปขาย CLMV เชื่อเป้นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูง  ชี้ไทยมีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง  ขนบธรรมเนียมประเพณี  และความทนิยมในตัวสินค้า

                นายพิศิษฐ์  เสรีวิวัฒนา  กรรมการผู้จัดการ  ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) หรือ ธสน. เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยปี 2562 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แม้อาจจะชะลอลงจากปีก่อนซึ่งมีมูลค่ากว่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัว 6.7% ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการค้าและการเมืองระหว่างประเทศ ตลอดจนราคาน้ำมันและค่าเงินบาทยังผันผวนสูง แต่โอกาสในการส่งออกของไทยไปยังตลาดประเทศเกิดใหม่ รวมทั้ง CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ยังมีอยู่มา EXIM BANK พัฒนาบริการหนุนเอสเอ็มอีส่งออก CLMV EXIM BANK พัฒนาบริการหนุนเอสเอ็มอีส่งออก CLMV

ทั้งนี้  ธนาคารจึงได้พัฒนาบริการสินเชื่อระยะสั้นครบวงจรสำหรับใช้หมุนเวียนช่วงก่อนและหลังการส่งออก รวมถึงการนำเข้า พร้อมบริการประกันการส่งออกสำหรับเอสเอ็มอี (SMEs) ที่ต้องการเริ่มต้นหรือขยายการส่งออก โดยให้สิทธิพิเศษสำหรับผู้ที่ต้องการส่งออกไปยัง CLMV ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จำนวนประชากรและแรงงานในวัยทำงานที่มีอยู่มาก และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร โดยภูมิภาคนี้ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลกค่อนข้างน้อย

ขณะที่ผู้ประกอบการไทยที่ค้าขายใน CLMV มีความได้เปรียบกว่าคู่แข่งชาติอื่นด้านทำเลที่ตั้งของไทย ความคล้ายคลึงของขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรม และความนิยมในสินค้าไทย ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปยัง CLMV เติบโต 16.6% ในปี 2561 โดยสินค้าไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวดีได้แก่ 1.สินค้าทุน อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลการเกษตร  ,2.วัตถุดิบ อาทิ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และวัสดุก่อสร้าง  และ3.สินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ เครื่องดื่ม ผลไม้สด อาหารสำเร็จรูป เสื้อผ้า เครื่องสำอาง และเครื่องประดับ 

อย่างไรก็ตาม  จากการพบปะหารือกับภาครัฐและเอกชนไทยที่สนใจขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาด CLMV ปัญหาและอุปสรรคสำคัญของผู้ประกอบการไทย ได้แก่ การขาดเงินทุน การขาดข้อมูลความรู้และทักษะ อาทิ ความรู้ด้านกฎระเบียบและวิธีการส่งออก รวมทั้งทักษะด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ และการขาดคู่ค้า  ธนาคารจึงได้พัฒนาบริการเพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจัดให้มีบริการเงินทุนหมุนเวียน พร้อมประกันการส่งออกในรูปแบบที่ไม่ยุ่งยากสำหรับ SMEs ที่ต้องการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกไปยัง CLMV

นอกจากนี้  ธนาคารยังได้จัดอบรมหลักสูตรบ่มเพาะผู้ประกอบการไทยให้พร้อมเริ่มต้นหรือขยายการส่งออกได้ รวมทั้งกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้ส่งออก SMEs ของไทยกับคู่ค้าประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มต้นจากเมียนมาในเดือนพฤษภาคม 2562 ทั้งนี้  โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของธนาคารที่มีเป้าหมายเชื่อมไทย เชื่อมโลก ด้วยการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

EXIM BANK พัฒนาบริการหนุนเอสเอ็มอีส่งออก CLMV

สำหรับบริการใหม่ของธนาคารด้านเงินทุนหมุนเวียนสำหรับ SMEs ที่ต้องการเริ่มต้นส่งออกไปยัง CLMV ได้แก่ สินเชื่อเอ็กซิมเชื่อม SMEs ไทยสู่ CLMV (EXIM CLMV SMEs Credit) ซึ่งเป็นสินเชื่อหมุนเวียนก่อนและหลังการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV วงเงินสูงสุด 2 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย Prime Rate -1.75% ต่อปี หรือ 4.50% ต่อปี (จากอัตรา Prime Rate ปัจจุบัน 6.25% ต่อปี) และลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ต่อปีสำหรับลูกค้าประกันการส่งออกของ EXIM BANK ซึ่งจะได้รับทั้งเงินทุนหมุนเวียนและความคุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ รวมถึงวงเงินสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Foreign Exchange Forward Contract) สูงสุดเท่ากับวงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ ใช้หนังสือค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และบุคคลค้ำประกันได้ ระยะเวลาอนุมัติตั้งแต่บัดนี้ถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 

                นายพิศิษฐ์  กล่าวต่อไปอีกว่า  ธนาคารได้พัฒนาบริการ ประกันส่งออก SMEs Easy  เหมาะสำหรับผู้ที่มีแผนจะส่งออกหรือกำลังจะส่งออกในมูลค่าไม่สูงนักแต่ละครั้ง หรือกำลังจะไปเจรจาการค้าที่งานแสดงสินค้าในต่างประเทศ และต้องการความคุ้มครองความเสี่ยงจากการทำการค้ากับผู้ซื้อในต่างประเทศ บริการนี้ให้ความคุ้มครองกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมกลุ่มประเทศ CLMV ด้วย จุดเด่นบริการคือ สมัครง่าย ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก สามารถเลือกรูปแบบวงเงินคุ้มครองที่เหมาะสมกับมูลค่าส่งออกได้ วงเงินรับประกันสูงถึง 2 ล้านบาท โดยคุ้มครอง 85% ของมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น 

                “ผลการดำเนินงานในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2562 EXIM BANK มีเงินให้สินเชื่อคงค้าง 106,342 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,653 ล้านบาท หรือ 18.57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 35,394 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 70,948 ล้านบาท ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 46,735 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs เท่ากับ 25,834 ล้านบาท และ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 มีเงินให้สินเชื่อคงค้างแก่ SMEs เท่ากับ 40,978 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,529 ล้านบาท หรือ 12.42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในไตรมาสแรกปี 2562 EXIM BANK มีกำไรสุทธิ 334 ล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs Ratio) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ 4.26% โดยมี NPLs จำนวน 4,534 ล้านบาทและเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 9,631 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,285 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 5,293 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองหนี้พึงกัน 181.97% ทำให้ EXIM BANK ยังคงดำรงฐานะการเงินที่มั่นคง”

                นายพิศิษฐ์  กล่าวอีกว่า การให้บริการประกันการส่งออกนั้น  ธนาคารมุ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินจากคู่ค้าในต่างประเทศ และช่วยเพิ่มความมั่นใจและความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย ทั้งในตลาดการค้าเดิมและตลาดใหม่ ในไตรมาส 1 ปี 2562 โดยธนาคารมีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและประกันความเสี่ยงการลงทุนเท่ากับ 25,775 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,670 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยเป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs จำนวน 6,939 ล้านบาท หรือ 26.92% ของปริมาณธุรกิจสะสมรวมในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม  ปัจจุบันธนาคารมีวงเงินที่ให้การสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 84,111 ล้านบาท และมีเงินให้สินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 จำนวน 40,771 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อคงค้างให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่ขยายฐานการค้าและการลงทุนไป CLMV จำนวน 29,372 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,512 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารมีสำนักงานผู้แทนในกรุงย่างกุ้ง เวียงจันทน์ และกรุงพนมเปญ ทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนภายใต้ทีมประเทศไทย สร้างโอกาสการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการวางแผนและดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการใน CLM และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ และอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดสำนักงานผู้แทนธนาคารในเวียดนามต่อไป