สสว. ขับเคลื่อนโครงการต้นแบบแก้ความยากจนแม่ฮ่องสอน

20 ก.พ. 2562 | 08:48 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สสว.ผนึกจังหวัดแม่ฮ่องสอน และส่วนราชการในพื้นที่ เดินหน้าโครงการต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจน  เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน  ทุกมิติทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง

นายสุวรรณชัย  โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า  สืบเนื่องจากสถานการณ์ความยากจนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) ได้ใช้เส้นความยากจนสะท้อนมาตรฐานการครองชีพขั้นต่ำของสังคม โดยคำนวณจากต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตเฉลี่ยของปัจเจกบุคคลในระดับครัวเรือน พบว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีปัญหาความยากจนเรื้อรัง รวมถึงจากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี  ในปีงบประมาณ 2562 สสว. จึงได้มีการจัดทำโครงการต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิต เป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดทางกายภาพ กระตุ้นให้เกิดการลงทุน ก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนจากการสร้างงาน สร้างรายได้ที่มั่นคง รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนสามารถอยู่และใช้ทรัพยากรธรรมชาติ โดยสามารถพัฒนาให้อยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูล สมดุล และยั่งยืน

thumbnail_S__24559647

สำหรับ กิจกรรมต่างๆ ในโครงการต้นแบบฯ ทั้งหมด 6 กิจกรรม ประกอบด้วย 1. กิจกรรมส่งเสริมต้นแบบการรวมกลุ่มวิสาหกิจเพื่อการปลูกบุกผสมผสานพืชอื่นโดยการนำงานวิจัยมาใช้แบบครบวงจร แก่สมาชิกโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ ตามพระราชดำริฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรในเครือข่ายได้รับการส่งเสริมให้นำงานวิจัยมาใช้เพื่อยกระดับผลผลิต ไม่น้อยกว่าจำนวน 300 ครัวเรือน ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำกับและติดตามโดยส่วนโครงการพระราชดำริ และกิจการพิเศษฯ ประจำศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปาย ตามพระราชดำริ (ท่าโป่งแดง) กรมป่าไม้

,2.กิจกรรมพัฒนายกระดับการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่ากลุ่มโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ตามพระราชดำริฯ เพื่อให้สมาชิกในโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ได้รับการจ้างงาน ไม่น้อยกว่า 15 ครัวเรือน และมีช่องทางประจำในการขายผลผลิตไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำกับและติดตามโดยส่วนโครงการพระราชดำริ และกิจการพิเศษฯ ประจำศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปาย ตามพระราชดำริ (ท่าโป่งแดง) กรมป่าไม้

,3.กิจกรรมเพิ่มศักยภาพในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ ประกอบด้วย กลุ่มวิสาหกิจกาแฟ บ้านแม่เหาะ จำนวน 25 ครัวเรือน และเครือข่าย 11 ครัวเรือน กลุ่มวิสาหกิจกาแฟ บ้านสบป่อง จำนวน 25 ครัวเรือน กลุ่มวิสาหกิจกระเทียม บ้านนาปลาจาด จำนวน 25 ครัวเรือน กลุ่มวิสาหกิจข้าว บ้านปางหมู จำนวน 128 ครัวเรือน ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น  กำกับและติดตามโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอน

thumbnail_S__24559644

,4.กิจกรรมยกระดับการนำผลผลิตจากวนเกษตร (ไผ่) มาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ มีสมาชิกกลุ่มอย่างน้อย 11 ครัวเรือน 11 ผลิตภัณฑ์ ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำกับและติดตามโดย สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน

,5.กิจกรรมเพิ่มศักยภาพกลุ่มผู้เลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอน / กลุ่มผลิตภัณฑ์จากแกะ ตามแนวพระราชดำริ โดยแบ่งเป็น กลุ่มผู้เลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอน ด้วยการจัดอบรม ฝึกปฏิบัติ สร้างเครือข่าย รวมถึงการพัฒนายกระดับฟาร์มไก่แม่ฮ่องสอนตัวอย่างสู่มาตรฐานระบบป้องกันโรค GFM ให้แก่กลุ่มผู้เลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอนซึ่งเป็นสมาชิกของสำนักงานปศุสัตว์ จำนวน 39 ครัวเรือน ดำเนินงานโดย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กำกับและติดตามโดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์จากแกะ ดำเนินการโดยการให้ความรู้และการฝึกปฏิบัติจริงในการผลิตผลิตภัณฑ์จากแกะให้มีคุณภาพ สำหรับกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากแกะของศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ตามพระราชดำริ จำนวน 20 ครัวเรือน ดำเนินงานโดยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กำกับและติดตามโดยศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์แม่ฮ่องสอน

และ6.กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า กลุ่มสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอนในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมจัดทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เพื่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ โดยจะได้จัดอบรมเผยแพร่องค์ความรู้สำหรับยกระดับการผลิตสินค้าหรือบริการให้เป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวโดยใช้วัตถุดิบและภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้แก่สมาชิกศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอนในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 350 ราย ครอบคลุม 7อำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ดำเนินงานโดย สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กำกับและติดตามโดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน

“ สสว. คาดหวังว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการที่สร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้มีความเป็นอยู่และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่อย่างยั่งยืน ในอนาคต”

thumbnail_S__24559647 thumbnail_S__24559650

นายสิริรัฐ  ชุมอุปการ  ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน  กล่าวว่า โครงการต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปีงบประมาณ 2562 เป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และได้มอบหมายให้ สสว. เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารโครงการและสนับสนุนงบประมาณ ทั้งนี้คาดว่าเมื่อเสร็จสิ้นโครงการจะทำให้มีต้นแบบและแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจน นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้ดียิ่งขึ้น

“โครงการนี้ จัดทำขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายโดยเป็นจังหวัดที่มีปัญหาความยากจนอยู่ในอันดับต้น ๆ ของประเทศ นำมาซึ่งการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ เพื่อดำเนินโครงการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ครอบคลุมทุกมิติทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง”

อนึ่ง โครงการต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ณ ศูนย์ศิลปาชีพ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งเป็นโครงการที่จัดทำขึ้นตามข้อสั่งการของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในคราวเดินทางมาตรวจราชการ ณ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561

595959859