คุม 2 แสนล้าน ตีทะเบียนจำนำรถ

28 ม.ค. 2562 | 04:48 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

คลังจับมือ ธปท. คุมจำนำทะเบียนรถ งัด ปว.58 ออกมาบังคับใช้ หลังตลาดโตต่อเนื่อง หวั่นเอาเปรียบผู้บริโภค ยํ้า! ทุกรายต้องแจ้ง ธปท. ภายใน 60 วัน หลังประกาศลงราชกิจจาฯ ลั่น! ปล่อยกู้ทั่วประเทศ ทุนจดทะเบียนเกิน 50 ล้านบาท ดอกเบี้ยไม่เกิน 28% ส่วนรายที่ไม่ถึง 50 ล้าน จำกัดปล่อยกู้รายจังหวัด แต่ขยายเพดานดอกเบี้ยได้ถึง 36%

ตลาดรับจำนำทะเบียนรถที่เติบโตรวดเร็วและต่อเนื่อง ล่าสุด ผู้ให้บริการทั่วประเทศ กว่า 1,000 ราย เป็นเงินสินเชื่อคงค้างถึง 200,000 ล้านบาท มีผู้ใช้บริการ 3 ล้านราย ทำให้กระทรวงการคลังต้องงัดประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (ปว.58) ออกมาบังคับใช้ หลังจากที่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน พ.ศ. .... ยังค้างอยู่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง : กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง : สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 28 ธ.ค. 2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ชี้แจงหลักเกณฑ์ครั้งสุดท้ายกับผู้ประกอบการทั่วประเทศไปเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2562 หลังจากที่เปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วระหว่างวันที่ 28 ก.ย. - 12 ต.ค. 2561 ก่อนมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 60 วัน


MP20-3439-A-

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กระทรวงการคลัง เกรงว่า ร่างกฎหมายใหม่ที่จะเปิดทางให้ตั้งหน่วยขึ้นมากำกับดูแลผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแล (นอนแบงก์) ไม่สามารถนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ทันในรัฐบาลนี้ จึงเห็นควรที่จะใช้ ปว.58 ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าที่ยังไม่ได้ยกเลิกและมีผลครอบจักรวาล ให้มีผลบังคับใช้แทนได้ เพราะตลาดจำนำทะเบียนรถเติบโตเร็วมาก อาจจะเกิดการเอาเปรียบผู้บริโภคได้ เพราะมีคนเกี่ยวข้องจำนวนมาก

"จากนี้ก็จะใช้ ปว.58 บังคับใช้กับผู้ให้สินเชื่อทะเบียนรถทั่วประเทศ แม้ว่าตามหลักแล้ว ควรจัดหมวดหมู่ให้ ธปท. กำกับดูแลสถาบันการเงิน ส่วนที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ นอนแบงก์ ก็ให้หน่วยงานใหม่ที่จะตั้งขึ้นมาตามร่างกฎหมายที่เราเสนอเข้าไปและอยู่ในชั้นกฤษฎีกา เป็นหน่วยงานกำกับดูแลแทน"


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

สำหรับการชี้แจงหลักเกณฑ์กำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันให้กับผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการในหลายจังหวัดและระดับประเทศ ในวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการเข้าร่วมประมาณ 60 บริษัท กว่า 200 คน โดยคาดว่า ประกาศ ปว.58 จะมีผลบังคับใช้ปลายเดือน ม.ค. หรือต้นเดือน ก.พ. นี้

ทั้งนี้ ธปท. แบ่งผู้ประกอบการออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ที่ทำธุรกิจอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้รับอนุญาต (ไลเซนส์) ให้ยื่นขออนุญาตผ่าน ธปท. ซึ่ง ธปท. จะใช้เวลาพิจารณา 60-90 วัน จึงจะแจ้งผล จากนั้นผู้ประกอบการต้องยื่นขอกับกระทรวงการคลัง โดย 2 หน่วยงาน จะใช้เวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน ส่วนผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอยู่แล้วและได้รับใบอนุญาตสินเชื่อบุคคล ให้แจ้ง ธปท. เพื่อทราบภายใน 60 วัน และสามารถทำธุรกิจต่อได้


วจีทิพย์ ธปท.

นางวจีทิพย์ พงษ์เพชร ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. ระบุว่า จากนี้ไป ธปท. จะกำกับดูแลภาคธุรกิจ หรือ ผู้ประกอบการ อยู่ในกติกาเดียวกัน และช่วยให้ผู้บริโภคมีสิทธิรับรู้ข้อมูลที่ชัดเจนถูกต้อง เพื่อใช้ตัดสินใจในการขอสินเชื่อ โดยที่การคิดดอกเบี้ยจะถูกปรับอัตราให้ลดลงมาระดับมาตรฐาน ที่สำคัญจะช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้อย่างยั่งยืน

แหล่งข่าวจากภาคธุรกิจ ระบุว่า ธปท. ขยายขอบเขตสินเชื่อบุคคลทำธุรกิจระดับประเทศ โดยกำหนดทุนจดทะเบียนขั้นตํ่า 50 ล้านบาท กรณีที่ทุนจดทะเบียนไม่ถึง 50 ล้านบาท ให้เวลาภายใน 1 ปี เพื่อเพิ่มทุนให้ได้ตามเกณฑ์ แต่หากไม่สามารถเพิ่มทุนได้ จะเปิดทางเลือกให้ทำสินเชื่อพิโก ซึ่งจำกัดวงเงินปล่อยกู้ไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อราย เฉพาะลูกค้าที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนในจังหวัดนั้น ๆ ห้ามปล่อยสินเชื่อข้ามจังหวัด โดยสามารถให้คิดดอกเบี้ยพิเศษได้ไม่เกิน 36%

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,439 วันที่  27 - 30 มกราคม พ.ศ. 2562

595959859