เคาะประกันภัยข้าวโพดเบี้ย 59 บาทต่อไร่ ชง ครม. ม.ค. นี้!!

13 ม.ค. 2562 | 00:57 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

คลังดันประกันข้าวโพดเข้า ครม. ม.ค. นี้ เคาะเบี้ย 59 บาทต่อไร่ พร้อมประกันภัยข้าวที่เบี้ยลดลงจาก 90 บาทต่อไร่ เหลือ 85 บาทต่อไร่ ดึงเกษตรกรร่วมจ่ายเบี้ยเอง เพื่อได้รับความคุ้มครองเพิ่ม ด้าน ธ.ก.ส. แจงนาข้าวภาคใต้ที่เสียหายจาก 'ปาบึก' ยังได้รับคุ้มครองถึง มี.ค. 62 หลังจากจ่ายไปแล้วทั่วประเทศ 1,500 ล้านไร่ จากนํ้าท่วม-ฝนทิ้งช่วง

หลังจากลองผิดลองถูกมาหลายปีในการทำ "ประกันภัยนาข้าว" ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญจนครบ 6 ปี ในปี 2560 โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 22.39 ล้านไร่ ค่าเบี้ยประกันรวม 2,015 ล้านบาท มีพื้นที่ภัยพิบัติ 1,645 ล้านไร่ จ่ายค่าสินไหมรวม 2,072 ล้านบาท คิดเป็นอัตราความเสียหาย 103.29% และปัจจุบัน อยู่ระหว่างการรับประกันภัยปี 2561 ไปจนถึงเดือน มี.ค. 2562 โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 27.61 ล้านไร่ ค่าเบี้ยประกันรวม 2,400 ล้านบาท โดยที่ผ่านมาได้จ่ายเงินชดเชยความเสียหายไปแล้ว 1,500 ล้านบาท

ดังนั้น จากนี้ไปรัฐบาลจะนำโมเดลประกันภัยข้าว ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ ที่แม้แต่ประเทศในอาเซียนยังมาขอดูเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ เพราะการทำ Crop Insurance ยาก ไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่เหมือนประกันภัยรถยนต์ที่มีสูตรชัดเจน ดังนั้น เมื่อได้โมเดลที่ดี มีพอร์ตขนาดใหญ่ เพราะมีพื้นที่เข้าร่วมโครงการเกือบ 30 ล้านไร่ ครึ่งหนึ่งของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ รัฐบาลจึงมั่นใจที่นำโมเดลของข้าวไปใช้กับพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทยอื่น ๆ ให้ได้รับการคุ้มครองด้วย โดยพืชที่เกษตรกรต้องการให้ทำประกัน คือ ลำไยและมันสำปะหลัง


MP20-3434-A

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า โครงการประกันภัยพืชผลที่จะนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ม.ค. นี้ จะทำพร้อมกันทั้งประกันภัยข้าวและข้าวโพด และครั้งนี้ นอกจากแบบเดิมที่มีการร่วมจ่ายค่าเบี้ยประกันระหว่างรัฐบาล เกษตรกร และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้ว จะมีส่วนเพิ่ม (On Top)ให้เกษตรกรร่วมจ่ายเบี้ยประกันเพิ่ม (Co-Payment) ด้วย เพื่อให้ได้รับเงินคุ้มครองเพิ่มขึ้น

"ถือเป็นอีกขั้นของการประกันภัยพืชผล ซึ่งแต่ก่อนเราให้รัฐร่วมจ่ายเบี้ยให้ พอรู้แล้วว่ามันดี เพราะ 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า เมื่อเสียหายแล้วได้รับการคุ้มครอง นอกจากเงินชดเชยจากรัฐส่วนหนึ่ง ยังได้เงินจากประกันด้วย ทำให้มีเงินไปเพาะปลูกรอบใหม่ได้ จากนี้ก็จะมีอีกส่วนเพิ่มขึ้น อย่างถ้าให้เกษตรกรจ่ายเพิ่มอีก 5 บาท 10 บาท 15 บาท ขึ้นกับพื้นที่เสี่ยง เมื่อเกิดความเสียหายก็จะได้เงินชดเชยเพิ่มขึ้น ซึ่งขึ้นกับความสมัครใจ แต่ที่ผ่านมา เราให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยง และเขาเริ่มเห็นประโยชน์ของการทำประกันภัยแล้ว"

 

[caption id="attachment_372153" align="aligncenter" width="337"] เกตโกมล ไพรทวีพงศ์ เกตโกมล ไพรทวีพงศ์[/caption]

ด้าน นายเกตโกมล ไพรทวีพงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาธุรกิจประกันภัย (ธ.ก.ส.) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า พื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายจากพายุโซนร้อน 'ปาบึก' นอกจากจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล 1,111 บาทต่อไร่แล้ว เกษตรกรที่ทำประกันภัยข้าวกับ ธ.ก.ส. จะได้เงินประกันเพิ่มเติมอีก 1,260 บาทต่อไร่ ซึ่งส่วนนี้จะจ่ายได้ไม่เกิน 15 วัน หลังเสร็จกระบวนการ ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้ยังอยู่ในระยะประกันภัยข้าวปี 2561 ซึ่งตั้งแต่ดำเนินการทั่วประเทศได้จ่ายเงินสินไหมทดแทนไปแล้ว 1,500 ล้านบาท คิดเป็น 1 ล้านไร่เศษ เพราะนาข้าวปีนี้ได้รับความเสียหาย 2 ครั้ง คือ นํ้าท่วมต้นฤดู และปลายฤดู มีเรื่องฝนทิ้งช่วง

"การทำประกันภัยนาข้าวปีนี้ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 27.61 ล้านไร่ เบี้ยประกันรวม 2,400 ล้านบาท โดยเป็นพื้นที่ภาคใต้เพียง 2 แสนไร่ เพราะมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวน้อยมาก มีพัทลุง นครศรีธรรมราช ระโนด และสงขลาเท่านั้น ที่เป็นที่ลุ่มตํ่า และหากพื้นที่นํ้าท่วมสามารถลดลงได้ภายใน 1 สัปดาห์ ข้าวอาจจะกระทบบ้าง แต่คงไม่เสียหาย 100%"

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังกำลังจะเสนอการประกันภัยข้าว ปีการผลิต 2562 ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติภายในเดือน ม.ค. นี้ เพราะต้องรอหลักเกณฑ์การประกันภัยข้าวโพดที่จะมีการพิจารณาในคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ในวันที่ 16 ม.ค. นี้ก่อน หลังจากเกณฑ์การประกันภัยข้าวนาปีได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) แล้ว

โดยปีนี้จะเป็นการทำประกันภัยข้าวโพดครั้งแรก และทำพร้อมกับประกันภันข้าว และจะเป็นปีแรกที่จะให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการจ่ายเบี้ยประกัน (Co-Payment) หลังจากที่ 4-5 ปีที่ผ่านมา ในการดำเนินการประกันภัยข้าวนั้น รัฐบาลและ ธ.ก.ส. ร่วมจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยให้เกษตรกร


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

สำหรับการประกันภัยข้าวปีการผลิต 2562 ค่าเบี้ยประกันจะลดเหลือ 85 บาทต่อไร่ จากปีก่อน 90 บาทต่อไร่ โดยที่รัฐบาลร่วมจ่ายให้ 60% ขณะที่ เกษตรกรจ่าย 40% และหากเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. จะร่วมจ่ายให้อีก ซึ่งกรณีนี้ หากพื้นที่ได้รับความเสียหายจะได้รับเงินคุ้มครอง 1,260 บาทต่อไร่ และยังมีส่วนที่ 2 หากเกษตรกรต้องการคุ้มครองเพิ่มขึ้น 240 บาทต่อไร่ รวมเป็น 1,500 บาทต่อไร่ จะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันทั้งหมด รวมถึงอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยค่าเบี้ยจะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ หากเป็นพื้นที่เสี่ยงตํ่า ซึ่งมี 56 จังหวัด จะคิดค่าเบี้ย 5 บาทต่อไร่ พื้นที่เสี่ยงปานกลางมี 17 จังหวัด ค่าเบี้ย 15 บาทต่อไร่ และพื้นที่เสี่ยงสูง 4 จังหวัด คือ ชุมพร พัทลุง นครศรีธรรมราช และนราธิวาส จะต้องจ่ายค่าเบี้ย 25 บาทต่อไร่

กรณีการประกันภัยข้าวโพดขั้นพื้นฐาน คิดค่าเบี้ยที่ 59 บาทต่อไร่ โดยที่รัฐบาลร่วมจ่ายในอัตรา 60% และเกษตรกรรับไป 40% โดยจะได้รับการคุ้มครองความเสียหายที่ 1,500 บาทต่อไร่ และกรณีที่ต้องการความคุ้มครองเพิ่ม 240 บาทต่อไร่ รวมเป็น 1,740 บาทต่อไร่ ก็ต้องซื้อเพิ่มเติมแบบเดียวกับข้าว ที่แบ่งความเสี่ยงออกเป็น 3 ระดับเช่นกัน

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,434 วันที่  10 - 12 มกราคม พ.ศ. 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว