กฟผ. คว้า 10 รางวัลสิ่งประดิษฐ์ จากเวทีนานาชาติ

06 พ.ย. 2561 | 10:38 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กฟผ. คว้า 10 รางวัลสิ่งประดิษฐ์ จากเวทีนานาชาติ ซึ่งมีผลงานเข้าร่วมจัดแสดงกว่า 800 ผลงาน จาก 30 ประเทศทั่วโลก

ดร.จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัยนวัตกรรมและพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการดำเนินธุรกิจและการสร้างประโยชน์ต่อสังคม เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยล่าสุด ทีมนักวิจัยและนักประดิษฐ์ กฟผ. สามารถคว้า 10 รางวัล จาก 8 ผลงาน ในเวที "The International Trade Fair-Ideas, Inventions and New Products" (iENA 2018) ณ เมืองนูเรมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อวันที่ 1–4 พ.ย. 2561 ซึ่งมีผลงานเข้าร่วมจัดแสดงกว่า 800 ผลงาน จาก 30 ประเทศทั่วโลก

 

[caption id="attachment_343314" align="aligncenter" width="430"] จิราพร ศิริคำ จิราพร ศิริคำ[/caption]

สำหรับการประกวดครั้งนี้ ผลงาน "เครื่องดันสายและชุดคันโยกสาย OVER HEAD" (Special Tools for Overhead Ground Wire Installation) เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยติดตั้งสายล่อฟ้าบนเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง โดยไม่ต้องปลดสายลงพื้นดิน ทำให้ กฟผ. ไม่ต้องดับไฟและไม่ต้องปิดกั้นถนน จึงไม่กระทบต่อประชาชน ผลงานนี้ได้รับรางวัลเกียรติยศจากคณะผู้บริหารการจัดงานประกวดและรางวัลเหรียญทองแดง ผลงาน "ประแจเปิด–ปิดวาล์วเอนกประสงค์" (Smart Wrench for Multi-Type Valves) เป็นประแจชนิดพิเศษที่ช่วยผ่อนแรงในการเปิด-ปิดวาล์ว สามารถทำงานได้หลากหลายและใช้งานในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย คว้ารางวัลเหรียญทอง ผลงาน "การออกแบบระบบการเปิดของบานประตูน้ำในโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ" (Enhancement of Wicket Gate Control System in Pumped-Storage Power Plant) ช่วยรักษาสภาพการเดินเครื่องให้อยู่ในจุดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแบบอัตโนมัติ และลดค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศได้กว่า 6 ล้านบาทต่อเครื่อง คว้ารางวัลเหรียญเงิน และรางวัลพิเศษจากสมาคม
นักประดิษฐ์ของประเทศโปแลนด์ ผลงาน "เครื่องมือสอบเทียบไดอัลเกจแบบอัตโนมัติ" (Automatic Dial Gauge Calibrator) เป็นอุปกรณ์ที่ กฟผ. พัฒนาเครื่องมือสอบเทียบขึ้นมาใหม่ เพิ่มความรวดเร็วและความแม่นยำในการสอบเทียบ ลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศได้กว่า 2.4 ล้านบาทต่อเครื่อง คว้ารางวัลเหรียญเงิน


10 รางวัล

ส่วนผลงานที่คว้าเหรียญทองแดง ได้แก่ "อุปกรณ์เคลียร์เศษโลหะออกจากสายพานท้ายเครื่องโม่ถ่านกึ่งอัตโนมัติ" (Metal Scrap Removal Machine for Lignite Belt Conveyor System) ป้องกันเศษโลหะที่ปะปนมาจากหน้างานถ่านลิกไนต์ สามารถกำจัดเศษโลหะแบบอัตโนมัติ ช่วยลดระยะเวลาการหยุดเดินเครื่องและลดค่าเสียโอกาสในการผลิตถ่านลิกไนต์ถึงปีละกว่า 23.6 ล้านบาท ผลงาน "โปรแกรมคาดการณ์ค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้า" (Prediction Software for Availability Declaration of Power Plant) ช่วยคาดการณ์ค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าในวันถัดไป ลดการสูญเสียรายได้ และช่วยให้โรงไฟฟ้ามีค่าความร้อน (Heat Rate) ต่ำลง จากการเดินเครื่องผลิตเต็มสมรรถนะ และผลงาน "การยกระดับกระบวนการเชื่อมซ่อมหม้อน้ำด้วยอุปกรณ์ช่วยกันลม" (Enhancement of Boiler Welding with Wind Shield Box) เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยแก้ปัญหาลมแรงขณะทำการเชื่อมท่อในอาคาร Boiler

595959859