เฉือนที่ ‘โคกภูกระแต‘ 1,860 ไร่ผุดนิคมอุตสาหกรรม เขตศก.พิเศษนครพนมประตูสู่อาเซียน

01 มี.ค. 2559 | 02:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

จากมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่มี “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2559 ได้เห็นชอบให้ที่สาธารณประโยชน์ “โคกภูกระแต” พื้นที่ 1.86พันไร่จากทั้งหมด 2.9 พันไร่ เป็นนิคมอุตสาหกรรม ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม เพื่อสนับสนุนให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) และ ภาคเอกชนเช่าพื้นที่ระยะยาวในราคาถูกที่ต้องใช้มาตรา44 ตามร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญชั่วคราวพ.ศ.2557 ถอนสภาพโอนเป็นที่ราชพัสดุให้กรมธนารักษ์ดูแล

[caption id="attachment_34436" align="aligncenter" width="700"] การคัดเลือกพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดนครพนม การคัดเลือกพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดนครพนม[/caption]

จุดเด่นที่เลือกที่ดินแปลงนี้เนื่องจาก 1. ทำเลติดสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 บ้านหอม (นครพนม –คำม่วน) ช่วยลดต้นทุนและร่นระยะเวลาการขนส่งสินค้าทางบก อีกทั้งติดแม่น้ำโขงที่ช่วยเพิ่มช่องทางการขนส่งสินค้าทางเรือไปยังประเทศเพื่อนบ้าน 2. เป็นที่สาธารณประโยชน์ที่มีการบุกรุกพื้นที่จากเอกชนแต่ไม่กระจายตัวเต็มพื้นที่ ดังนั้นจึงสามารถเลือกเฉือนบริเวณที่มีปัญหาและพื้นที่ที่หน่วยราชการใช้ออกไปได้โดยไม่เสียรูปแปลง คือ พัฒนา 1.86 พันไร่ ส่วนอนาคตหากแก้ปัญหาบุกรุกได้ก็สามารถขยายพื้นที่ได้หากมีความจำเป็นต้องใช้เพิ่ม และ3. มีสาธารณูปโภคเข้าถึงพื้นที่ อาทิ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข22 ทางหลวงชนบทสายนพ.3008 สะพานมิตรภาพหรือสะพานข้ามโขงแห่งที่ 3 สถานีรถไฟทางคู่ (บ้านไผ่-นครพนม) มีไฟฟ้าเข้าถึง อีกทั้งแหล่งน้ำสาธารณะอยู่ทางทิศตะวันตก ส่วนข้อเสียคือปัญหาบุกรุกซึ่งพ่อเมืองนครพนมใช้วิธีจับกุมดำเนินคดี ล่าสุดมีคดีค้างอยู่ที่ศาลกว่า 40 ราย

อย่างไรก็ดี กรอบพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนมทั้งหมดตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ กำหนดจะครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ 13 ตำบล เนื้อที่ 744.79 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่ 465,493.75 ไร่ ประกอบด้วย อำเภอเมืองนครพนม 10 ตำบล ครอบคลุม 554.58 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ ตำบลกุรุคุ ตำบลท่าค้อ ตำบลนาทราย ตำบลนาราชควาย ตำบลในเมือง ตำบลบ้านผึ้ง ตำบลโพธิ์ตาก ตำบลหนองญาติ ตำบลหนองแสง และตำบลอาจสามารถ ที่อำเภอท่าอุเทน 3 ตำบล ครอบคลุม 190.21 ตารางกิโลเมตรได้แก่ ตำบลโนนตาล ตำบลรามราช และตำบลเวินพระบาท

รูปแบบการพัฒนาจะเน้นอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมเกี่ยวกับอาหารแช่แข็งและห้องเย็น ขณะที่การค้าชายแดนจะเน้นให้เป็นศูนย์กลางการค้าส่งและตลาดกลางสินค้าเกษตรระดับภูมิภาคอินโดจีน สินค้าแปรรูปอุตสาหกรรมอาหารปลอดภัย และศูนย์กลางโลจิสติกส์ การขนส่งรวบรวมและกระจายสินค้า

เมื่อสอบถามสำนักงานที่ดินจังหวัดนครพนม ได้คำตอบว่าที่ดินทั้ง 1.86 พันไร่เป็นทำเลที่ดีที่สุดถือว่าเป็นแปลงที่ดิน “สีขาว” ปลอดจากการเข้าทำประโยชน์ ขณะที่ราคาประเมินที่ดินใกล้กับแปลงที่ดินตำบลอาจสามารถ ติดทางหลวงหมายเลข 212 ( นครพนม-บึงกาฬ )ติดสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่3 ที่จะข้ามฝั่งไปยังสปป.ลาว ราคาตารางวาละ 3.5พันบาท หรือไร่ละ 1.4 ล้านบาท ติดทางหลวงชนบท ตารางวาละ 1 พันบาท หรือไร่ละ 4 แสนบาท ส่วนถนนซอยตารางวาละ 700 บาท ที่ดินตาบอด 300 บาทต่อตารางวา ขณะที่ราคาตลาดซื้อขายจะสูงกว่า 2-3 เท่าตัว บางแปลงราคาสูงกว่า 10 ล้านบาทต่อไร่ โดยเฉพาะที่ดินติดถนนในเขตเทศบาลตำบลอาจสามารถใกล้กับสะพาน ซึ่งเป็นทำเลที่นักลงทุนเริ่มขยับเข้ามาลงทุนมากขึ้น เช่น บริษัทปั๊มน้ำมันปตท. ปั๊มเอสโซ่ รวมถึงการลงทุนพัฒนาสร้างอาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ยังมีโรงแรมเกิดขึ้นรองรับ อาทิ โรงแรมวิวโขง โรงแรมริเวอร์วิว อีกทั้งโครงการบ้านจัดสรรที่เกิดขึ้น ซึ่งทำเลทองส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณตำบลอาจสามารถ ตำบลหนองญาติ และ ตำบลท่าค้อ เป็นต้น

เมืองเกษตรกรรมริมน้ำโขงอันเงียบสงบ ปัจจุบันกำลังถูกเนรมิตให้กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยมีรัฐบาล “บิ๊กตู่”ลับเขี้ยวเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่น่าจับตาไม่แพ้พื้นที่อื่นสำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจนครพนมแห่งนี้ !!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2559