เร่งสปีด5Gนำร่องอีอีซีอัด8แผนปฏิบัติการ 1.79 หมื่นล้านฮับภูมิภาคลดค่าใช่จ่ายด้านลงทุน

09 ต.ค. 2561 | 05:07 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

บอร์ดอีอีซีไฟเขียว 8 แผนงานพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นด้านดิจิตอล รองรับอีอีซีเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาค ด้วยงบการลงทุนกว่า 1.79 หมื่นล้านบาท โดยในปีหน้า ได้เห็นการนำเอาระบบ 5G มาทดลองใช้ได้จริงในพื้นที่ รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้รับทราบข้อเสนอของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือกระทรวงดีอี เกี่ยวกับแผนพัฒนาโครงการแผนปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลระยะเวลา 5 ปี (2561-2565) เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ให้เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคประกอบด้วย 8 แผนงาน ระยะเร่งด่วน ภายใต้กรอบวงเงินลงทุน 17,913 ล้านบาท

[caption id="attachment_328675" align="aligncenter" width="503"] คณิศ แสงสุพรรณ คณิศ แสงสุพรรณ[/caption]

โดยประกอบด้วย แผนการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล(อีอีซีดี) และสถาบัน IoT ให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนในด้านอุตสาหกรรมดิจิตอล ซึ่งขณะนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว 1,809 ล้านบาท เป็นส่วนของการก่อสร้างสถาบันไอโอที 1,749 ล้านบาท และการพัฒนาอีอีซีดี 60 ล้านบาท แผนการพัฒนา Advanced Big Data, Cloud and Data Center (ABCD) เป็นการสนับสนุนให้ประเทศมี Data Center และ Data Platform กลางประเทศ เพื่อลดความซํ้าซ้อนด้านการลงทุนของหน่วยงานภาครัฐ โดยจะเป็นการลงทุนภายใต้รัฐวิสาหกิจของกระทรวงดีอี 2,046 ล้านบาท แผนการพัฒนาศูนย์กระจายพัสดุภัณฑ์อัตโนมัติ เป็นการพัฒนาศูนย์กระจายพัสดุภัณฑ์อัตโนมัติ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอีอีซี ซึ่งจะเป็นการลงทุนภายใต้รัฐวิสาหกิจของกระทรวงดีอีวงเงิน 3,550 ล้านบาท

ขณะที่แผนพัฒนาระบบ IoT SMART City ที่จะให้อีอีซีเป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชนและอุตสาหกรรมโดยใช้ไอโอที เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลัก ร่วมกับระบบสื่อสาร และเป็นแหล่งทดสอบจริงขนาดใหญ่เพื่อดึงดูดนักลงทุน ซึ่งได้รับงบประมาณแล้ว 312 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการขอเพิ่มเติมอีก 503 ล้านบาท

แผนการสร้างศูนย์ทดสอบ 5G และเตรียมโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่นำร่อง ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี 5G รวมทั้งจัดทำโครงการ 5G TestBed เพื่อให้ประเทศใช้ประโยชน์จาก 5G ทันและเทียดเทียมได้กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ประกอบกับคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีมติให้กระทรวงดีอี ดำเนินการตามแนวทางการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตอลเพื่อขับเคลื่อน 5G รวมทั้งการร่วมใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อเร่งรัดการพัฒนา 5G ในพื้นที่อีอีซี เพื่อใช้เป็นเขตเศรษฐกิจระดับโลกรองรับการลงทุนแห่งอนาคต และเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอีก 20 ปีข้างหน้า อีกทั้ง เป็นเมืองที่รองรับสังคมและการใช้ชีวิตยุคใหม่ คาดว่าจะเริ่มนำมา ทดลองใช้ในปีหน้า

TP11-3407-A

นายคณิศ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไอโอที ในเขตอีอีซี เพื่อรองรับการทำเมืองใหม่อัจฉริยะ ซึ่งอยู่ระหว่างการของบประมาณ 310 ล้านบาท รวมทั้งแผนโครงสร้างพื้นฐาน ท่อร้อยสาย เคเบิลใยแก้วนำแสงและเสา (i-Pole) เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับโครงการของรัฐในอีอีซี ให้มีศักยภาพสำหรับรองรับ Bandwidth ที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นภายในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะใช้เงินลงทุน 4,383 ล้านบาท ของรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงดีอี และแผนการขยายผลโครงการ ASEAN Digital Hub ที่จะช่วยให้ประเทศเป็นศูนย์กลางดิจิตอลของภูมิภาค และเป็นที่ตั้งของผู้ประกอบการเนื้อหารายใหญ่ของโลก โดยการเพิ่มประ สิทธิภาพโครงข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตของภูมิภาคอาเซียน เป็นต้น โดยโครงการนี้ได้รับอนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรีแล้ว 5,000ล้านบาท เพื่อไปดำเนินงาน

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ขณะนี้อีอีซีดี ในพื้นที่ศรีราชา มีผู้สนใจที่จะเข้ามาลงทุนแล้ว เช่น บริษัท ไปรษณีย์ไทยฯ จะสร้างศูนย์กระจายสินค้าแบบอัตโนมัติ ส่วนบริษัทต่างชาติ เช่น บริษัท Dassault จากฝรั่งเศส มีความเชี่ยวชาญด้านงานออกแบบ 3 มิติ และสนใจจะมาลงทุน

ขณะที่การขับเคลื่อนการใช้ 5G ในพื้นที่อีอีซีนั้น คณะทำงานได้มีแนวทางการพัฒนาพื้นที่ โดยมีเป้าหมายที่จะให้พื้นที่อีอีซีดี เป็นพื้นที่หลักในการทดสอบระบบ 5G ซึ่งระหว่างที่รอการก่อสร้างได้ประสานกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เพื่อใช้พื้นที่ในการทดสอบ 5G ส่วนการสร้างสถาบันไอโอที บนพื้นที่ 30 ไร่ การออกแบบจะเสร็จในเดือนตุลาคมนี้ และเริ่มก่อสร้างได้ต้นปี 2562

 

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38  ฉบับ 3,407 ระหว่างวันที่ 7-10 ตุลาคม 2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว