คืนแวตในเมืองบูมค้าปลีกแนะสรรพากรเร่งแก้ปม-เพิ่มดิวตี้ฟรีสู้ศึกอาเซียน

28 ก.ย. 2561 | 09:20 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

TRA มั่นใจค้าปลีกปี 62 สดใส ปัจจัยบวกอุ้มเพียบ ทั้งเลือกตั้ง กำลังซื้อฟื้นตัว ชี้ Downtown VAT Refund คือ Big Change ครั้งสำคัญวงการรีเทลไทย แนะสรรพากรเร่งถกแก้ปมต้นทุนดำเนินงาน หากต้องการสู้ศึกค้าปลีกอาเซียนต้องเร่งผลักดัน พร้อมเพิ่มผู้ประกอบการดิวตี้ที่หลากหลายกระตุ้นการแข่งขัน หวังสู่ Shopping Paradise โลก

แม้ทิศทางค้าปลีกไทยมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาทช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาจะมีอัตราการเติบโต 3.9% และคาดว่าทั้งปีจะปิดที่ไม่เกิน 4% แต่กลับถูกมองว่าถือเป็นตัวเลขที่ยังไม่น่าพอใจมากนัก หากเทียบกับการเติบโตของค้าปลีกในระดับอาเซียนที่พุ่งสูงไปแล้วกว่า 8-10% จากการขยับตัวมากขึ้นของหลายกลุ่มประเทศทั้งลาว กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมา ที่จะชิงส่วนแบ่งทางการตลาดจากกลุ่มนักท่องเที่ยวไป ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ไทยต้องมีการปรับทัพค้าปลีกเพื่อรองรับการแข่งขันนี้มากขึ้น ขณะที่การเข้ามาของโครงการ Downtown VAT Refund ถูกมองว่าคือการเปลี่ยน แปลงครั้งสำคัญ (Big Change) ที่จะผลักดันไทยสู่เป้าหมายอีกหนึ่งศูนย์กลางการช็อปปิ้งระดับภูมิภาค และระดับโลกต่อไป

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย (TRA) เปิดเผย กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทิศทางการเติบโตในธุรกิจค้าปลีกของเมืองไทยมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท จึงมีแนวโน้มสดใสมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เป็นผลมาจากการประกาศเลือกตั้งส่งผลให้บรรยากาศทางการเมืองในปีหน้าเป็นไปในทิศทางบวก กำลังซื้อในกลุ่มรากหญ้าที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการจะอาศัยจังหวะที่สัญญาณเป็นบวกนี้   จัดแคมเปญกระตุ้นต่างๆเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มที่สดใสและเป็นการกระตุ้นยอดขาย

โดยเฉพาะไตรมาส 4 ที่ถือเป็นช่วงไฮซีซันอยู่แล้ว โดยมีทั้งเทศกาลปีใหม่ เทศกาลของขวัญที่หลายคนจะจับจ่ายใช้สอยจะส่งผลให้ภาพรวมตลาดคึกคัก ขณะที่สภาพอากาศที่เริ่มเย็นลงในช่วงปลายปีก็จะเหมาะกับการท่องเที่ยวที่คึกคักขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกคึกคักไปด้วย นอกจากนี้ยังมีเรื่องของผู้ประกอบการที่มีการปรับตัวเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เช่น ระบบโค้ด ระบบเก็บชำระเงิน ระบบการโฆษณาในร้านค้า การวางสินค้าใหม่ๆ ระบบออโตโมชันใหม่ๆ รวมถึงการสรรหาสินค้าที่หลากหลายเข้ามาใช้ถือว่าตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากขึ้น

MP36-3403-A ขณะที่ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกจนถึงสิ้นปีนี้คาดว่าจะเติบโต 3.9-4% อย่างไรก็ดี การเข้ามาของโครงการ Downtown VAT Refund ถือเป็น Big Change ที่จะผลักดันให้ธุรกิจค้าปลีกมีการเติบโตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันการท่องเที่ยวของไทยถือว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาสูงติดอันดับโลก โดยปัจจุบันไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาทต่อปี แต่เกิดการซื้อสินค้าเพียงนิดเดียว และถ้าหากสามารถทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามา 10 ล้านคนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามา 35 ล้านคนในปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีเพิ่มเป็น 50-70% ในอีก 5 ปีข้างหน้ามีอารมณ์ในการจับจ่ายใช้สอยที่ดีขึ้น เชื่อว่ารายได้ของประเทศจะดีขึ้นมหาศาล ซึ่งเราควรจะนำตรงนี้มาเป็นจุดแข็งและโอกาส เพราะหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้ว   ภาพรวมค้าปลีกไทยก็น่าจะเติบโตได้อย่างมากเฉลี่ย 1% ต่อปีเท่านั้นเอง ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ตํ่ามากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน

“ไทยมีปัญหาเรื่อง VAT Refund ขณะที่เรื่อง Duty Free ที่ไม่หลากหลายมากพอ ทำให้การจับจ่ายใช้สอย (Spending) ของนักท่องเที่ยวเป็นตัวเลขที่ตํ่าจนเกินไป โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวมีการจับจ่ายอยู่ที่ 15-20% หรือกล่าวง่ายๆ คือนักท่องเที่ยวจ่ายเงิน 1 แสนบาทมาเที่ยวเมืองไทย แต่มีการซื้อสินค้าในเมืองไทยเพียงแค่ 1.5-2 หมื่นบาท ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศอย่างญี่ปุ่น ในบางทริปมีการจ่ายเงินค่าท่องเที่ยว 5 หมื่นบาท แต่ช็อปปิ้งสินค้ามูลค่ากว่า 1 แสนบาท นั่นคือตัวเลขการจับจ่ายที่ควรจะเป็นในเมืองไทย แต่ปัจจุบันกลายเป็นยอดจับจ่ายของนักท่องเที่ยวหมดไปกับค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าอาหาร แต่ไม่มีการช็อปปิ้งเลย นั่นคือปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข”

ด้านความคืบหน้าระหว่างโครงการ Downtown VAT Refund นั้นยังต้องรอข้อสรุปกับสรรพากร เนื่องจากมีการเปลี่ยนกฎกติกา โดยกำหนดให้ทดลองทำ Sandbox นำร่อง 6 จุด แต่ยังไม่สามารถระบุจุดที่ชัดเจนได้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบจากสรรพากรและเพิ่มจำนวนผู้เล่นมากขึ้นซึ่งจะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยในส่วนของข้อดีคือจะทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลเสียต่อต้นทุนที่สูงขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากไม่สามารถรวมตัวกันจัดทำได้

090861-1927-9-335x503 โดยส่วนตัวมองว่าแนวความคิดเรื่อง Downtown VAT Refund ควรจะให้ผู้ประกอบการรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวในการจัดทำ เพราะยิ่งมีระบบน้อยยิ่งทำงานง่าย อีกทั้งยังส่งผลให้ต้นทุนในการจัดทำลดลงตามไปด้วย โดย 1 จุดบริการจะต้องมีการลงทุนทั้งในส่วนของการปรับปรุงซอฟต์แวร์ บุคลากร เป็นต้น ซึ่งใน 1 ผู้ประกอบการจะใช้เงินลงทุนกว่า 10 ล้านบาทต่อ 1 จุดบริการซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนที่สูง ขณะเดียวกันหากรวมกันจัดทำและมีการรวมในการทำระบบเดียวกันที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ จะทำให้การกระจายไปสู่ร้านค้าปลีกขนาดเล็กทำได้ง่ายขึ้น และสามารถลดต้นทุนได้

“วันนี้มีการรวมตัว 4 พันธมิตร ได้แก่ สยามพิวรรธน์ เดอะมอลล์ เซ็นทรัล และโรบินสัน ร่วมใจผลักดันให้มืออาชีพ อย่าง Global Blue เข้ามาเป็นผู้ให้บริการคืนภาษี รวมถึงบริหารจัดการในระบบ เพราะเป็นเธิร์ดปาร์ตี้และเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการเพิ่มพันธมิตรเข้ามาในสมาคมมากขึ้นก็ได้ คือทำอย่างไรก็ได้ให้สามารถรวมตัวกันได้จำนวนมากและใช้ระบบไม่หลากหลายและลดต้นทุน เพราะถ้ายิ่งหลากหลายระเบียบขั้นตอนก็จะยุ่งยาก ต้นทุนของผู้ประกอบการก็จะสูงตามไปด้วย และจะไม่ส่งผลดีต่อใครทั้งสิ้น ทั้งนี้สมาคมยังยืนหยัดในแนวคิดเดิมที่มีการทำงานร่วมกันมากว่า 1 ปีในการรวมตัวกันจัดตั้ง แม้สรรพากรจะมีการเปลี่ยนแปลงกติกาในการแยกยื่นความจำนงเพื่อให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งต้องมีการตกลงร่วมกันอีกครั้ง

นายวรวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้จุดอ่อนของไทย คือการมีดิวตี้ฟรีเพียงเจ้าเดียว แตกต่างจากเกาหลีที่มีดิวตี้ฟรีถึง 6 ราย ทำให้มีความได้เปรียบเรื่องการช็อปปิ้ง ทั้งนี้เป้าหมายระยะยาวของสมาคมคือต้องการให้ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยเข้าสู่ระบบ VAT Refund ทั้งหมด เพื่อเป็นการกระตุ้นเม็ดเงินและการเติบโตของจีดีพีประเทศ พร้อมผลักดันไทยไปสู่เป้าหมายคือการเป็น Shopping Paradise ของโลก ขณะที่การเข้ามาของโครงการ “Downtown VAT Refund for Tourist” หรือ “การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในเมืองสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ” ถือว่าช่วยกระตุ้นภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกให้เติบโตได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

 

หน้า 36  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38 | ฉบับ 3,403 ระหว่างวันที่ 23-26 กันยายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว