ซีอาร์อาร์ซีฯ จับมือภาครัฐ พัฒนาบุคลากรไทยรองรับรถไฟความเร็วสูง

23 ส.ค. 2561 | 08:40 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ผู้ผลิตรถไฟจีนจับมือ"วท." สร้างบุคลากรรองรับ"รถไฟความเร็วสูง"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันนี้( 23 สิงหาคม 2561 )ณ โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน กรุงเทพฯ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)โดยศูนย์ทดสอบระบบขนส่งทางราง (ศรท.) ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ชิงเต่า ซื่อฟาง จำกัด (CRRC Qingdao Sifang Co., Ltd. หรือ CRRC Sifang ) ผู้ผลิตรถไฟและรถไฟความเร็วสูงรายใหญ่จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อเรื่อง High Speed Rail: The Latest Technology and Opportunity for Local Manufacturing เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านรถไฟความเร็วสูงจากประเทศจีน และรับฟังแผนการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงและโครงข่ายระบบรางในประเทศไทย พร้อมทั้งเป็นการระดมข้อคิดเห็นจากภาครัฐและเอกชนในการกำหนดทิศทางและโอกาสของภาคอุตสาหกรรมด้านระบบรางของไทยในตลาดรถไฟความเร็วสูงทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับสากล รวมถึงบทบาทในการก้าวต่อไปของหน่วยงานภาครัฐในการสนับสนุนผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพทางการแข่งขันในระดับสากล

ww3 ในโอกาสดังกล่าวนี้ วว. และบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ซื่อฟาง ได้ทำพิธีลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent หรือ LOI) เรื่อง High Speed Train Teaching Program Establishment ซึ่งเป็นการร่วมมือด้านการศึกษาและการฝึกอบรมบุคลากรของไทยให้มีความพร้อมสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงต่อไปในอนาคต โดยหนังสือแสดงเจตจำนงความร่วมมือครั้งนี้มีอายุ 3 ปีนับจากปี 2561 นี้เป็นต้นไป มีวัตถุประสงค์เพื่อการถ้ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงผ่านการจัดทำหลักสูตร HSR (High Speed Rail) และการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ซึ่งในครั้งนี้ มีมหาวิทยาลัยในไทยและจีนที่มีความพร้อมร่วมลงนามจำนวน 6 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เจียวตง (Beijing Jiaotong University) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

ww1 นายวิรัช จันทรา รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการร่วมกันจัดทำร่างหลักสูตรระหว่างสถาบันการศึกษาไทย-จีนที่ร่วมลงนามใน LOI โดยทางวว.จะเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการฝึกภาคปฏิบัติ ขั้นแรกจะมีมหาวิทยาลัยไทยเข้าร่วม 5 แห่ง จีน 1 แห่ง จากนั้นก็อาจจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในขั้นที่สองและสามต่อไป ทั้งนี้ วว. และฝ่ายซีอาร์อาร์ซีฯ มีความร่วมมือคู่ขนานกันอยู่ทั้งในแง่ของการศึกษา และในส่วนของการทดสอบในห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงในแง่มุมต่างๆ เช่น การทดสอบระบบอุปกรณ์รางทั้งหมด ขณะเดียวกันวว. ยังให้ความสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมการขนส่งระบบราง ให้สามารถพัฒนายกระดับการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆในระบบรถไฟความเร็วสูงภายในประเทศเราเองให้ได้ และลดการพึ่งพาการซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

ww2

ด้านนางเจียงอิ่ง เหลียง รองประธานและหัวหน้าทีมวิศวกร บริษัท ซีอาร์อาร์ซี ซื่อฟาง ให้ความเห็นว่า จีนให้ความสำคัญกับการเข้ามาร่วมพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทยรวมทั้งประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียด้วย นอกเหนือจากการผลิตรถไฟความเร็วสูงป้อนให้กับเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคายแล้ว บริษัทยังให้ความสนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในอีกหลายโครงการพัฒนาระบบรถไฟของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 สนามบิน (อู่ตะเภา สุวรรณภูมิ ดอนเมือง) ที่กำลังอยู่ในกระบวนการเตรียมยื่นซองเสนอราคาประมูล ซึ่งบริษัทนั้นมีการเตรียมยื่นเสนอเป็นแพ็คเกจครอบคลุมทุกด้านทั้งการลงทุน การก่อสร้าง และอื่นๆ ที่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ “ต้องขอบอกว่าเราสนใจทุกโครงการลงทุนที่เกี่ยวกับเรื่องรถไฟในประเทศไทย แต่ตอนนี้เรากำลังโฟกัสที่โครงการรถไฟความเร็วสูงที่เรามั่นใจว่ามีความเชี่ยวชาญและมีความพร้อมในทุกๆด้าน” ผู้บริหารของ ซีอาร์อาร์ซี ซื่อฟาง กล่าว ขณะเดียวกันบนเวทีการสัมมนา ผู้แทนของบริษัทยักษ์ ใหญ่ด้านรถไฟความเร็วสูงของจีนรายนี้ ยังให้ทรรศนะว่า การเดินทางขนส่งในอนาคตนั้นควรมุ่งเน้นไปที่ระบบรางให้มากยิ่งขึ้นแทนการขนส่งทางรถยนต์ เพราะสามารถขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้าได้ครั้งละมากๆ และประหยัดเวลามากกว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับในประเทศไทย จำเป็นต้องมีการพัฒนาซัพพลายเชน หรือเครือข่ายซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวเนื่องกับรถไฟความเร็วสูงให้มีความครบสมบูรณ์และแข็งแกร่ง เหมือนกับที่ไทยมีเครือข่ายซัพพลายเชนที่แข็งแกร่งสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว