ธพว.อึ้ง!! เอสเอ็มอีไทย 2.7 ล้านรายตกสำรวจ- โวพร้อมอุ้มปล่อยกู้ดอกเบี้ยตำ

29 มิ.ย. 2561 | 08:38 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

SME Development Bank ผสาน ม.หอการค้าไทย สำรวจเอสเอ็มอีไทยมีจำนวนสูงถึง 5.2 ล้านราย ระบุกลุ่มรายย่อย หรือ “จุลเอสเอ็มอี” ตกสำรวจ สูงถึง 2.7 ล้านราย ประกาศพร้อมอุ้มเต็มสูบ เต็มเติมช่องว่าง วงเงิน 50,001-1,000,000 บาทต่อราย ผ่านสินเชื่อ 1%ต่อปี ผลักดันเป็นกำลังขับเคลื่อน ศก.ฐานราก

การสำรวจในหัวข้อ “จำนวนสถานประกอบการ SMEs ของประเทศไทย” เป็นการจัดทำฐานข้อมูลเอสเอ็มอี นอกเหนือจากการจัดทำร่วมกันระหว่าง มหาวิทยาลัยกอการค้าไทย และ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Development Bank ผลสำรวจดังกล่าวจะทำให้ ธนาคารทราบถึงสถานการณ์ปัจจุบันของเอสเอ็มอี รวมถึงความต้องการด้านสินเชื่อ ภาระหนี้สิน ความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อทั้งจากสถาบันการเงินของรัฐและธนาคารพาณิชย์ อันจะทำให้ธนาคารนำผลสำรวจไปพัฒนาต่อยอดมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ตรงความต้องการ สู่การยกระดับผู้ประกอบการให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และข้อมูลสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประเมินว่า จำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย มีประมาณ 2,493,044 ล้านราย เมื่อรวมกับผลสำรวจจำนวนเอสเอ็มอี จากความร่วมมือระหว่าง SME Development Bank และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ยังมีผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย หรือ “จุลเอสเอ็มอี” ที่ไม่มีการจดนับในสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม อีกจำนวน 2,760,251 ราย ได้แก่ กลุ่มผู้ค้า-แผงค้าในตลาด จำนวน 1,286,618 ราย กลุ่มหาบเร่หรือแผงลอย จำนวน 564,039 ราย กลุ่มรถจำหน่ายอาหารเคลื่อนที่ Food Truck + รถพุ่มพวง จำนวน 90,437 ราย กลุ่มร้านค้าออนไลน์ จำนวน 412,004 ราย กลุ่มร้านแฟรนไชส์ จำนวน 4,900 ราย กลุ่มผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลรายย่อย จำนวน 170,938 ราย และผู้ประกอบการอื่นๆ จำนวน 231,315 ราย ดังนั้น ประเมินแล้วปัจจุบัน ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีไทย มีจำนวนมากถึงกว่า 5,253,295 ราย

จากข้อมูลข้างต้น ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจ คือกลุ่มจุลเอสเอ็มอีที่ไม่ได้จดนับในสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม สามารถเข้าถึงแหล่งทุน-สินเชื่อผ่านสถาบันการเงิน (ธนาคาร) ในระบบปกติได้เพียง 20.86% เท่านั้น (ธนาคารรัฐ 16.45% ธนาคารพาณิชย์ 4.41%) ส่วนใหญ่ใช้ทุนส่วนตัวถึง 39.61% โดยสาเหตุที่จุลเอสเอ็มอี ไม่กู้เงินจากธนาคาร เพราะไม่อยากเป็นหนี้ 38.14% ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 20.75% ไม่ผ่านการพิจารณา 12.80% ขั้นตอนเยอะไม่ทันต่อความต้องการ และไม่รู้จะกู้อย่างไร 11.86% เป็นต้น นอกจากนี้ จุลเอสเอ็มอี กลุ่มที่มีหนี้สิน มาจากการกู้ในระบบ 49.30% และหนี้นอกระบบ คิดเป็น 50.70% จากแหล่งเงินกู้นอกระบบและญาติพี่น้องคนสนิท

สำหรับโครงสร้างหนี้นั้น พบว่า จุลเอสเอ็มอีมีหนี้เฉลี่ย 193,523.81 บาท เป็นการกู้เงินในระบบ 308,377.66 บาท และเป็นหนี้นอกระบบที่ 33,206.73 บาท โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จุลเอสเอ็มอีเคยผิดนัดชำระหนี้หรือผ่อนผันการชำระหนี้ถึง 30.72% เนื่องจากปัจจัยกำลังซื้อของลดลง ค่าใช้จ่ายหรือค่าครองชีพสูงขึ้น ธุรกิจขาดสภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้นและอยู่ในช่วงเปิดภาคเรียน

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวถึงทัศนะความสามารถในการกู้เงินในระบบของจุลเอสเอ็มอี สามารถกู้ได้ 42.37% จากเหตุผลว่า เคยกู้กับธนาคารของรัฐหรือธนาคารพาณิชย์และมีหลักทรัพย์ค้ำประกันแล้ว ส่วนกลุ่มที่ไม่สามารถกู้ได้ คิดเป็น 57.63% ให้เหตุผลหลัก 53.22% เพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ส่วนสิ่งที่เอสเอ็มอีต้องการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล คือ กระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการบริโภค ช่วยแก้ไขหนี้จากระยะสั้นโดยปรับเป็นหนี้ระยะยาวเพื่อให้ผ่อนชำระได้ ดูแลระดับสินค้าต้นทุนวัตถุดิบ สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนด้วยการอนุมัติที่รวดเร็ว ลดต้นทุนค่าขนส่ง-พลังงาน มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อสำหรับพ่อค้า-แม่ค้าทดแทนการกู้หนี้นอกระบบ และให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ-หนี้ครัวเรือน

ด้านนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) หรือ ธพว. กล่าวว่า จากผลสำรวจด้านความต้องการกู้เงินของจุลเอสเอ็มอี ภายใน 1 ปีนับจากปัจจุบัน พบว่า จุลเอสเอ็มอี จำนวน 44.59% ต้องการกู้เงิน และแทบทั้งหมดระบุว่าอยากกู้ในระบบ วงเงิน 25,000-50,000 บาท ซึ่งระดับวงเงินกู้ดังกล่าว มีสถาบันการเงินต่างๆ ในระบบรองรับอยู่แล้ว ทว่า วงเงินกู้ระดับ 50,001-1,000,000 บาท ยังเป็นช่องว่างที่ยังไม่มีสถาบันการเงินใดเข้าไปดูแลอย่างจริงจัง ดังนั้น SME Development Bank ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ พร้อมจะเข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าว ผ่านผลิตภัณฑ์ สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 สำหรับนิติบุคคล คิดอัตราดอกเบี้ย1% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา 7 ปี ไม่ต้องใช้หลักประกัน เปิดโอกาสให้รายย่อยที่มีปัญหาทางการเงินสามารถกู้ได้(แม้เคยปรับโครงสร้างหนี้ หรือผ่อนชำระไม่ต่อเนื่องมาก็ตาม) ให้ชำระแต่ดอกเบี้ยอย่างเดียวปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุด 3 ปี ผ่อนชำระเพียง 410 บาทต่อวันเท่านั้น สามารถรู้ผลการพิจารณาได้ในเวลาเพียง 7 วันเท่านั้น

ส่วนสิ่งที่ต้องการได้รับจาก SME Development Bank นั้น จุลเอสเอ็มอี มองว่าอยากได้ขั้นตอนถึงสินเชื่อที่ง่ายและสะดวกมากขึ้น การสร้างองค์ความรู้หรือการแนะนำรูปแบบการเตรียมตัวในการขอสินเชื่อ โดยให้เข้าถึงผู้ค้ามากขึ้น เน้นสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับจุลเอสเอ็มอีที่ต้องการสภาพคล่อง รวมทั้งให้ความสะดวกในการชำระหรือติดต่อกับธนาคารเพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงิน โดยเฉพาะการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขยายหรือยืดระยะเวลาการผ่อนชำระ และมีรูปแบบของการผ่อนชำระดอกเบี้ยและเงินต้นเป็นรายวัน รายสัปดาห์ หรือ 15 วันได้ให้สอดคล้องกับลักษณะของธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งมีทั้งพ่อค้าแม่ค้าในตลาด หาบเร่-แผงลอย รถเร่ข่ายอาหาร หรือแม้แต่คนขายลอตเตอรี่ที่ส่วนใหญ่มีรายได้เป็นรายวันและมีความจำเป็นต้องใช่เงินทุนในการซื้อมาขายไป เป็นต้น

นายมงคล กล่าวว่า ธนาคารจะเร่งนำผลสำรวจและข้อเสนอแนะต่างๆ ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อและงานบริการ เพื่อตอบความต้องการของกลุ่มจุลเอสเอ็มอีให้มากที่สุด หากสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งทุนควบคู่ความรู้จะช่วยให้จุลเอสเอ็มอีเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ให้เกิดการเติบโตอย่างแข็งแกร่งจากรากฐาน