สสส.รุกสร้างนักสื่อสารสุขภาวะรุ่นใหม่หัวใจนักอนุรักษ์หนุนโครงการเขาใหญ่ดีจัง

21 พ.ค. 2561 | 12:20 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สสส. เดินหน้าสร้างนักสื่อสารสุขภาวะรุ่นใหม่ หัวใจนักอนุรักษ์หนุนโครงการ เขาใหญ่ดีจัง จัดกิจกรรมพาน้องเดินป่า ตอน สะพายกล้องท่องป่า

แผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ ให้ก้าวสู่การเป็นนักสื่อสารสุขภาวะ มีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศและดิจิทัล เข้าถึงสื่อที่มีคุณภาพ เข้าใจและสามารถใช้กระบวนการสร้างสรรค์สื่อเพื่อพัฒนาตนเอง เกิดความรับผิดชอบต่อสังคม เคารพสิทธิและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมที่หลากหลายได้ จึงได้สนับสนุนภาคีเครือข่ายอันได้แก่ กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ โครงการพื้นที่สร้างสรรค์ปราจีนบุรี โครงการเขาใหญ่ดีจัง จัดกิจกรรมพาน้องเดินป่า ตอน สะพายกล้องท่องป่า

เพื่อเป็นการสนับสนุนเยาวชนนักสื่อสารที่มีความสนใจเรื่องการถ่ายภาพ ให้ได้เกิดการพัฒนาศักยภาพทั้งด้านการสร้างสรรค์สื่อด้วยการถ่ายภาพ ความรู้เรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่าและธรรมชาติ จนเกิดการต่อยอดให้เยาวชนสามารถใช้ภาพถ่ายของตนเอง เป็นสื่อสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์เพื่อรณรงค์ไปสู่สังคมได้ ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

sss2

นายวรพจน์ โอสถาภิรัตน์ กลุ่มดินสอสีและผู้ประสานโครงการพื้นที่นี้...ดีจัง กล่าวว่า กิจกรรมนี้จัดต่อเนื่องมาปีนี้เป็นปีที่ 3 เริ่มต้นจากเครือข่ายโครงการ “พื้นที่นี้...ดีจัง” ประกอบไปด้วย 3 จังหวัดรอบเขาใหญ่ ได้แก่ นครนายก ปราจีนบุรี และนครราชสีมา ที่จัดกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเยาวชน อยากให้เยาวชนได้รู้สึกผูกพัน รักและเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลเขาใหญ่ ให้เขาใหญ่เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับเยาวชน ซึ่งอุทยานแห่งชาติทั่วไปมีเส้นทางการศึกษาธรรมชาติอยู่แล้ว แต่สำหรับเขาใหญ่เราจัดกิจกรรมเพื่อเป็นอุทยานต้นแบบ ออกแบบเส้นทางให้เป็นการสื่อสารสุขภาวะ สร้างปฏิสัมพันธ์กันภายในครอบครัว ให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้กันภายในครอบครัวตลอดเส้นทางการท่องเที่ยวอุทยาน รวมถึงให้ได้รับความรู้ที่ถูกต้องจากการมาท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อีกด้วย

sss3

ณัฐวุฒิ รักษ์กุศล ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ เล่าว่าแนวคิดในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ของกลุ่มรักษ์เขาใหญ่คือการทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้รู้จักการอนุรักษ์ป่า สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อมโดยผ่านเครื่องมือคือ การถ่ายภาพ ซึ่งเป็นสื่อที่คนรุ่นใหม่เข้าถึงได้ง่ายและมีความสนใจมากที่สุดสื่อหนึ่งในยุคปัจจุบัน โดยเปิดรับเยาวชนอายุ 15-25 ปีจากทั่วประเทศที่มีความสนใจด้านการถ่ายภาพเข้ามาร่วมกิจกรรมทั้งหมด 15 คน สิ่งที่เยาวชนจะได้เรียนรู้นอกจากเทคนิคการถ่ายภาพเบื้องต้นแล้ว ยังได้ทดลองปฏิบัติจริงด้วยการออกเดินป่า ถ่ายภาพสัตว์และธรรมชาติร่วมกับทีมวิทยากรซึ่งเป็นทั้งช่างภาพสัตว์ป่าและพี่ ๆ ทีมรักษ์เขาใหญ่ ที่จะคอยสอดแทรกข้อมูลความรู้ เพื่อให้ได้มองเห็นความเชื่อมโยงของสัตว์ป่าและธรรมชาติ

“ค่ายครั้งนี้ไม่ได้ให้เยาวชนมาเรียนถ่ายภาพอย่างเดียว เราอยากจะบอกกับเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ว่า การจะดูแลรักษาป่ามันไม่ใช่แค่เพียงการบอกให้คนหยุดตัดต้นไม้ แต่ทุกครั้งที่คุณทำอะไรที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมันสามารถสร้างเป็นงานอนุรักษ์ได้หมดเลย เช่น ปัจจุบันเครื่องมือที่คนรุ่นใหม่ใช้มากที่สุดคือการถ่ายรูปไปแล้วนำไปสื่อความหมายในสังคมออนไลน์ เราอยากให้น้อง ๆ เห็นว่ามันเชื่อมโยงกันได้ เมื่อน้องถ่ายภาพสัตว์ป่าและธรรมชาติออกไปเผยแพร่ มันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยกันรณรงค์ให้คนรักสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกัน มันคือการบันทึกประสบการณ์ชีวิต กลุ่มรักษ์เขาใหญ่เราจะมีแกนกลางในการจัดกิจกรรมทุกครั้งว่า ถ้าจะสอนให้เขารัก เขารู้ป่า ก็แค่สอนในหนังสือ แต่ถ้าเราจะสอนให้เขารักป่า ต้องให้เขาเห็น ให้เขาได้สัมผัส”

sss8

เต้ย - ปฤษฎิ์ เก่งสูงเนิน และ แบงก์ - ธนาวุธ วรนุช สองช่างภาพสัตว์ป่าหนุ่มรุ่นใหม่ผู้ทำหน้าที่เป็นวิทยากรถ่ายทอดเทคนิคการถ่ายภาพสัตว์ป่าและธรรมชาติให้กับน้อง ๆ เยาวชน กล่าวถึงการมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า พวกเขาทั้งสองคนเป็นช่างภาพสัตว์ป่ารุ่นใหม่ที่เติบโตและพัฒนาฝีมือมาจากความรักในสัตว์ป่าตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันช่างภาพสัตว์ป่าในเมืองไทยค่อนข้างมีน้อย เพราะสังคมไทยไม่ค่อยปลูกฝังเรื่องนี้ให้กับเด็ก ๆ สื่อที่มีก็ยังไม่ครอบคลุม เด็ก ๆ ไม่ค่อยเข้าถึงข้อมูลเรื่องนี้มากนัก ดังนั้นในฐานะคนรุ่นใหม่ก็อยากนำเสนอสิ่งที่เป็นสัตว์ป่าของไทยจริง ๆ เป็นระบบนิเวศของไทยจริง ๆ ความรู้ด้านสัตว์ป่าที่เป็นของไทยจริง ๆ ออกไปให้เด็กรุ่นใหม่ เราอยากจะปลูกฝังตรงนี้ให้เขา

ในส่วนของเยาวชนที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการอย่าง ที – สุพจน์ สุราแป๊ะตั้ง ปัจจุบันศึกษาชั้น ม.6 โรงเรียนพิมายวิทยา จ.นครราชสีมา เล่าว่าโดยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบเรื่องสัตว์ป่ามาตั้งแต่เด็ก แต่เคยเห็นแค่ในหนังสือ ในหนังสารคดี ไม่เคยมีโอกาสเห็นสัตว์ในป่าจริง ๆ ตนเองเคยมาเขาใหญ่ 3 ครั้ง แต่ไม่เคยมีโอกาสได้เห็นสัตว์ป่าจริง ๆ เยอะเหมือนที่ได้เห็นในกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้รู้สึกทั้งตื่นเต้น ตื้นตัน และรักสัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น

sss4

“ปกติก็รักสัตว์อยู่แล้ว แต่เราไม่เคยรู้อุปนิสัยมันในธรรมชาติแบบนี้ ครั้งนี้เราก็ได้รู้เพิ่มขึ้น ลึกซึ้งขึ้น เราได้เห็นทั้งนกเงือกกรามช้าง นกแก๊ก นกเขียวคราม นกขุนทองที่เราเคยเห็นเขาอยู่แต่ในกรง ก็เพิ่งเคยเห็นในธรรมชาติครั้งแรก มันทำให้รู้สึกยิ่งรักสัตว์ป่าต่าง ๆ มากขึ้นไปอีก”

ทีบอกว่าผลงานที่เขาชอบที่สุดจากค่ายนี้ คือภาพที่เขาถ่ายช้างขณะยื่นงวงไปกินใบไผ่ สำหรับคนอื่นภาพนี้อาจจะเป็นภาพธรรมดา ๆ ภาพหนึ่ง แต่สำหรับที เขาชอบสี ชอบแววตาของช้างที่คุ้นชินและเป็นมิตรกับคน เป็นอีกแง่มุมหนึ่งของช้างที่หลายคนอาจไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นเท่าไรนัก

sss6

ไม่ต่างกับ โบว์ – ธัญญรัตน์ สุขเรือน นิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เผยถึงความรู้สึกว่าจากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้เธอรู้สึกกับสัตว์ป่าเปลี่ยนไปจากเดิมเป็นอย่างมาก

“ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะไม่เข้าใจเลยค่ะว่า เราจะไปสนใจทำไมว่าสัตว์มันจะเป็นยังไง เราแค่ถ่ายภาพ แต่พอเรามาเห็นเขาจริง ๆ ในธรรมชาติ เราถึงได้รู้ ได้เข้าใจวิถีชีวิตและพฤติกรรมของสัตว์ป่าจริง ๆ เมื่อก่อนจะเห็นแค่ว่าเขาเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง เรายังไม่เห็นถึงความสัมพันธ์ของเขากับธรรมชาติ ความสัมพันธ์ของระบบนิเวศ ตอนนี้รู้แล้วว่าสัตว์ทุกอย่าง ต้นไม้ทุกต้นคือสัมพันธ์กัน การมาถ่ายภาพต้องเคารพสัตว์ป่า เคารพสถานที่ ไม่ไปรบกวนเขา”

โบว์บอกว่าปกติเธอชอบถ่ายภาพลงในเฟซบุ๊กของเธออยู่แล้ว หลังจากนี้ก็คิดว่าจะถ่ายภาพสัตว์ป่าเพื่อเผยแพร่ให้คนที่สนใจได้เห็นภาพสัตว์ป่าจริง ๆ ในธรรมชาติ เมื่อคนอื่น ๆ ได้เห็นความสวยงาม เห็นความน่ารักจริง ๆ ของสัตว์ป่าและธรรมชาติ เธอเชื่อว่าภาพเหล่านี้จะมีพลังที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงให้ผู้คนเริ่มหันมาให้ความสำคัญและรักธรรมชาติมากขึ้นได้ไม่มากก็น้อย

sss

“ผมคิดว่าสิ่งที่เด็ก ๆ และเยาวชนได้ไปคือแน่ ๆ คือ เทคนิคและวิธีการนำเสนองานอนุรักษ์ในรูปแบบของการถ่ายภาพ อีกสิ่งหนึ่งที่มองเห็นในแววตาของเด็ก ๆ ก็คือ ความภูมิใจ หลายคนเพิ่งจับกล้องมาไม่นาน แต่ก็สามารถถ่ายภาพทางช้างเผือกได้ ส่วนในแง่มุมของการอนุรักษ์ เขาจะไม่ได้เห็นแค่สิ่งที่เขาถ่าย อย่างถ่ายดอกไม้ เขาจะไม่ได้เห็นแค่ดอกไม้ แต่เขาจะรู้ว่านี่คือดอกอะไร ทำไมต้องมาอยู่ตรงนี้ เขามีหน้าที่อะไร มีความสัมพันธ์กับป่ากับธรรมชาติอย่างไร ผมเชื่อว่าเขาจะมีแรงบันดาลใจที่จะถ่ายรูปแล้วนำไปสื่อสารต่อว่าสิ่งนี้มันสวยงาม อย่าไปทำร้ายมันนะ” ณัฐวุฒิ รักษ์กุศล ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ กล่าวทิ้งท้าย

หลังจากนี้กลุ่มรักษ์เขาใหญ่จะมีการจัดกิจกรรมอีก 2 รูปแบบต่อเนื่องคือ กิจกรรมค่าย 1 ชั่วโมงที่จะออกไปให้ความรู้เรื่องอนุรักษ์กับเด็ก ๆ ใน 7 โรงเรียนรอบเขาใหญ่ และอีก 1 กิจกรรมคือ ลานเพลินปราจีนบุรี ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 26 พ.ค. 2561 ข้างศาลหลักเมืองปราจีนบุรี โดยจะนำผลงานสิ่งแวดล้อมไปจัดแสดง เพื่อเชิญชวนคนปราจีนบุรีให้ลุกขึ้นมาช่วยกันอนุรักษ์สัตว์ป่าและธรรมชาติที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ต่อไป

sss1

e-book-1-503x62-7