"DOA for ALL" … ท่าอากาศยานมาตรฐานสากล ส่งเสริมโครงข่ายคมนาคมของประเทศ

21 มี.ค. 2561 | 12:56 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

“เราทำท่าอากาศยานให้เป็นเหมือนบ้าน ให้เป็นสถานที่ซึ่งใช้เงินภาษีของประชาชนมาสร้าง Department of Airports หรือ DOA for All ซึ่ง All ในที่นี้ หมายถึงประชาชนชาวไทยทุกคน ทุกกลุ่มอาชีพ ทุกกลุ่มอายุ มีสิทธิ์เท่าเทียม เพราะฉะนั้น สนามบินของเราจะดูความเหมาะสมในเรื่องของราคา ใช้ Universal Design หรือปรับปรุงสนามบินเดิมให้ตอบโจทย์การใช้งานให้กับทุกคนได้ใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะผู้พิการ เราเป็นสถานที่เชื่อมโอกาสให้วิสาหกิจชุมชนเข้ามาเผยแพร่และจัดจำหน่ายสินค้าใน 28 สนามบิน ที่เราดูแล เราทำท่าอากาศยานให้เป็น Tourist Airport หรือส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งการสร้างความสะดวกสบายกับนักท่องเที่ยว อาทิ การจัดรถรับส่ง เพื่อรองรับตลาดที่ขยายมากขึ้น และเมื่อเกิดความขยายตัว เม็ดเงินจะกระจายสู่ทุกท้องถิ่น” จุดเริ่มต้นของการพูดคุยที่ดูสนุกสนานและตื่นเต้นไปกับการพัฒนากรมท่าอากาศยานไทยในมิติต่าง ๆ จาก ดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน


11-3343

คุณดรุณ เผยต่ออีกว่า หลังจาก ICAO ปลดธงแดงไทย เมื่อเดือน พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ทำให้บรรยากาศด้านการขนส่งทางอากาศของไทยกลับมาคึกคัก เห็นได้ชัดจากการขอเปิดเส้นทางบินใหม่ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2559 ท่าอากาศยานกระบี่มีสายการบินต่างประเทศเข้ามาทำการบินให้ผู้บริการจำนวน 14 ประเทศ ต่อมาในปี 2560 มีสายการบินมาเปิดเส้นทางการบินอีก 12 ประเทศ รวมมีสายการบินต่างประเทศเข้ามาเปิดเส้นทางการบินที่ท่าอากาศยานกระบี่เป็น 26 ประเทศ ไม่เพียงเท่านั้น ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานีก็มีสายการบินจากต่างประเทศ อย่าง คาซัคสถาน เข้ามาเช่นกัน ในปี 2560 ที่ผ่านมา

สำหรับบทบาทของกรมท่าอากาศยานนั้น อธิบดีกรม ฉายภาพให้ฟังว่า เรามีหน้าที่ความรับผิดชอบในการดำเนินงานท่าอากาศยานทั้งหมด 28 แห่ง และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 1 แห่ง คือ ท่าอากาศยานเบตง โดยทุกการดำเนินงานของกรมท่าอากาศยานนั้น เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ทั้งในด้านความปลอดภัย (Safety) และการรักษาความปลอดภัย (Security) รวมทั้งการอำนวยความสะดวกสบาย (Faciltation) ของท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

โดยทางกรมท่าอากาศยานได้ดำเนินการปรับปรุงคู่มือสนามบิน คู่มือปฏิบัติงาน แผนรักษาความปลอดภัย และเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจัดทำโครงการปรับปรุงกายภาพของท่าอากาศยานให้เป็นไปตามมาตรฐานกำหนด ตลอดจนการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานท่าอากาศยาน โดยเฉพาะในด้านการรักษาความปลอดภัย ซึ่งในปี 2560 ที่ผ่านมา กรมท่าอากาศยานได้งบประมาณในการติดตั้งเครื่องตรวจอาวุธและวัตถุระเบิดแบบอัตโนมัติ (Explosive Detection System : EDS) พร้อมสายพานลำเลียงสัมภาระสำหรับตรวจค้น (Hold Baggage) ตลอดจนการติดตั้งระบบการจัดการการรักษาความปลอดภัยพื้นที่การบินที่ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ท่าอากาศยานอุดรธานี และอีก 8 สนามบิน เพื่อให้การดำเนินงานด้านการรักษาความปลอดภัยมีประสิทธิภาพและตรงตามที่มาตรฐานกำหนด

สำหรับแผนการพัฒนานั้น กรมท่าอากาศยานมุ่งมั่นการดำเนินงานตามแนวทางต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องในภาพรวมของชาติ โดยได้นำเอานโยบายของภาครัฐ หรือ แผนแม่บทการจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ของประเทศ ที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้จัดขึ้นเป็นแนวทางในการพัฒนาท่าอากาศยานในสังกัด รวมทั้งดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์กรมท่าอากาศยาน ปี 2560-2564 ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

1.จัดให้มีการพัฒนาสนามบิน เพื่อส่งเสริมโครงข่ายการบินให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่
2.ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวกให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3.การพัฒนาและปรับปรุงการบริหารจัดการสนามบินอย่างมีประสิทธิภาพ
4.พัฒนาองค์กรภายใต้หลักธรรมาภิบาล
5.บริหารทรัพยากรมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ


11-3343-47

ในมิติของการพัฒนาท่าอากาศยานนั้น ได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารสถานที่สนามบินในสังกัดให้มีความทันสมัย ปลอดภัย และมีมาตรฐานเดียวกันในทุกสนามบิน ด้านการออกแบบภายนอก มุ่งเน้นการออกแบบให้เข้ากับสภาพของแต่ละท้องถิ่น ไม่เพียงเท่านั้น ในขณะนี้กรมท่าฯ กำลังจัดทำแผน Ultimate Design หรือการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร ที่คาดว่า จะเพิ่มขึ้นอีก 20 ปีข้างหน้า โดยนำตัวเลขผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีมาวิเคราะห์และออกแบบรวมทั้งกำหนดแผนขยายท่าอากาศยานในอนาคต ซึ่งสอดรับกับข้อกำหนดของ ICAO อย่างตรงประเด็น ยกตัวอย่างเช่น สนามบินที่เคยรองรับอากาศยานแบบ 80 ที่นั่ง เมื่อมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต้องใช้อากาศยานขนาด 180-200 ที่นั่ง และต้องเพิ่มความกว้างของทางวิ่งเป็น 45 ม. จากเดิม 30 ม.

ด้านความปลอดภัยอย่างที่กล่าวไว้ เบื้องต้น ได้มีการนำเอาเครื่องตรวจอาวุธและวัตถุระเบิดแบบอัตโนมัติควบคู่ไปกับการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ และฝึกอบรมด้านความปลอดภัยและรักษาความปลอดภัยแห่งแรก ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญและตรงตามข้อกำหนดของแผนการรักษาความปลอดภัยขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO นอกจากนี้ ปัจจัยที่สำคัญอีกด้าน คือ การพัฒนาบุคลากร ทางกรมท่าฯ นั้น ได้มุ่งสร้างทักษะด้านต่าง ๆ ให้เหมาะกับสายงาน มุ่งเน้นการจัดอบรมทางวิชาการควบคู่ไปกับการประเมินผลการปฏิบัติจริง ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เรายังมุ่งปลูกฝังการสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับเจ้าหน้าที่มีใจรักในด้านการบริการให้ผู้โดยสารรับรู้และสัมผัสถึงมิตรภาพอย่างอบอุ่นในทุกการเดินทาง ภายใต้แนวคิด “ยิ้มแย้มยินดี สุขขีที่บ้านเรา” โดยภาพลักษณ์ใหม่นี้จะทำให้ผู้โดยสารรู้สึกเสมือนท่าอากาศญาน คือ บ้านของทุกคน

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ยังพร้อมพัฒนาและจัดทำโครงการ ‘Tourist Airport’ หรือ สนามบินเพื่อการท่องเที่ยว โดยได้เริ่มนำร่องพัฒนาสนามบินในภูมิภาค 3 แห่ง ได้แก่ ระนอง บุรีรัมย์ และน่าน ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรมบินไปปั่นไป @น่าน เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การเป็น ‘ทัวริสต์ แอร์พอร์ต’ ของท่าอากาศยานน่านนคร หรือจะเป็นการชูความโดดเด่นของ จ.บุรีรัมย์ ด้านการท่องเที่ยวเพื่อการกีฬาที่มีทั้งสนามแข่งรถ สนามฟุตบอลที่ทันสมัย และ จ.ระนอง ได้ทำการโปรโมตการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพราะมีทั้งการแช่บ่อน้ำแร่ น้ำพุร้อน และสปา

อย่างไรก็ดี กรมท่าอากาศยานยังให้ความสำคัญในเรื่องของการบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างสมดุล ตามนโยบายของรัฐบาล โดยไม่จำกัดอยู่เพียงแต่ภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมในนโยบาย One Transport หรือจะเป็นความร่วมมือกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในการเตรียมติดตั้งเครื่องไปรษณีย์อัตโนมัติ หรือ Automated Postal Machine และภาคเอกชนอื่น ๆ ที่จะตามมาในอนาคต


11-3343-49

“ทุกการขับเคลื่อนของกรมท่าอากาศยานต่อจากนี้ จะทำให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสในการใช้ท่าอากาศยาน เพื่อการเดินทางหรือขนส่งทางอากาศได้อย่างเท่าเทียม และนำแนวบริหารจัดการที่ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งมาเป็นฐานราก ควบคู่ไปกับการสร้างมาตรฐานในการบริหารจัดการที่เทียบเท่ากับสากล โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้ผู้โดยสารทุกคนมีความสะดวกสบายปลอดภัยและประทับใจอย่างอบอุ่นเหมือนกับได้อยู่ที่บ้านในทุกครั้ง ที่เข้ามาใช้บริการกับกรมท่าอากาศยาน หรือ DOA for All” ดรุณ แสงฉาย กล่าวทิ้งท้าย


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,343 วันที่ 25-28 ก.พ. 2561 หน้า 11
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ทิศทางการพัฒนา 'ท่าอากาศยานไทย'
ท่าอากาศยานดอนเมืองครบรอบ 104 ปี การดำเนินงาน


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว