กสทช.ชี้ไทยไม่พร้อมรับ 5G เหตุคลื่นความถี่ยังไม่สะสาง

21 มี.ค. 2561 | 09:05 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ประวิทย์เผย ไทยไม่พร้อมรับ 5G เหตุปัญหาคลื่นความถี่ยังไม่สะสาง ชี้ขั้นตอนกฎหมายเป็นเหตุให้ไทยไม่ทันกระแสโลก ทีดีอาร์ไอแนะทุกภาคส่วนต้องร่วมมือ กันกำกับดูแลมีเดียในยุคดิจิตอล

น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เทคโนโลยี 5G ในอนาคตนั้น จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตอลในทุกภาคส่วน ที่ต้องเชื่อมโยงกัน ดังนั้น กสทช. อาจไม่ได้เป็นเพียงองค์กรกำกับดูแลโทรคมนาคมเพียงองค์กรเดียว แต่ต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานอื่นด้วย จะเห็นได้ว่าประเทศไทยนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องของระบบราชการและการออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้ เป็นเหตุให้ไม่ทันต่อสถานการณ์ของโลกและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว “วิธีที่จะทำให้ไทยเดินหน้าต่อไปได้คือ พลเมืองต้องคิดได้ ทำได้ ไม่ใช่ศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่ภาครัฐเป็นผู้คิดแล้วสั่งให้พลเมืองปฏิบัติ” น.พ.ประวิทย์ กล่าว

[caption id="attachment_269034" align="aligncenter" width="336"] MP20-3349-1B น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา[/caption]

อย่างไรก็ตามประเทศไทยนั้น อาจยังไม่พร้อมสำหรับ 5G เพราะไทยเองยังไม่มีสเปกตรัมโรดแมป หรือแผนงานในการสะสางปัญหาคลื่นความถี่ กสทช. เองไม่เคยใช้อำนาจในการเรียกคืนคลื่นได้เลย อีกทั้งเทคโนโลยี 5G ไม่ได้เป็นเพียงบริการด้านโทรคมนาคม แต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ทุกอุตสาหกรรมต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการใช้งานและเกิดการลงทุน

ด้าน ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัจจุบันรูปแบบการให้บริการเปลี่ยนไปสู่ดิจิตอล แพลตฟอร์ม ทำให้เกิดความเชื่อมโยงในหลายอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน ดังนั้นการกำกับดูแลต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปัญหาที่สำคัญของไทยนั้นคือ การกำกับดูแลที่ตามไม่ทันสื่อดิจิตอล อย่างไรก็ตามการทำงานของ กสทช. นั้นควรที่จะให้ความสำคัญในด้านโทรคมนาคมและมีเดียให้มีประสิทธิภาพ โดยการทำงานร่วมกับกระทรวงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น อีกทั้งนโยบายและมาตรการกำกับดูแลในรูปแบบเดิมๆ นั้นไม่เพียงพอ ควรที่จะหาจุดสมดุล ไม่มากเกินไปเพราะจะทำให้เทคโนโลยีไม่เกิด แต่ก็ไม่น้อยจนเกินไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,349 วันที่ 18 - 21 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว