จับตาข้อพิพาททางการค้าโลกของสหรัฐฯ ไทยต้องพร้อมรับความผันผวน

15 มี.ค. 2561 | 04:56 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

จับตาข้อพิพาททางการค้าโลกของสหรัฐฯกับสหภาพยุโรป จีน ฯลฯ ... ไทยต้องพร้อมรับความผันผวนนี้

ประเด็นสำคัญ

•สหรัฐฯ เดินเกมกดดันทางการค้ากับนานาชาติต่อเนื่อง โดยจุดสนใจคงอยู่ที่แรงกดดันที่มีต่อสหภาพยุโรป (EU) และจีน ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า คงต้องติดตามท่าทีการเจรจาขอผ่อนผันมาตรการ Safeguard สินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม ระหว่างสหรัฐฯ กับนานาประเทศ ก่อนที่มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายสัปดาห์หน้า (ราว 15 วันหลังการลงนาม ซึ่งอาจเป็นช่วงระหว่างวันที่ 23-24 มีนาคม 2561) ทั้งนี้ หากการเจรจาสามารถบรรลุเงื่อนไขที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันได้ ก็คงคลี่คลายแรงกดดันต่อประเด็นการค้าโลกได้ แต่ในกรณีเลวร้าย หาก EU และจีนไม่ได้รับการผ่อนผัน อีกทั้งสหรัฐฯ เดินหน้าแผนงานกีดกันการค้ากับจีนรอบใหม่เพิ่มเติม (โดยมีข่าวว่าอาจมีมูลค่ารวมกันราว 6 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ) อาจนำไปสู่การตอบโต้ทางการค้ารอบต่อๆ ไป ดึงให้มีสินค้ารายการอื่นเข้ามาอยู่ในวงจรของการกีดกันทางการค้าจนส่งผลกระทบในวงกว้างมากขึ้น

•ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มีโอกาสที่การต่อรองผลประโยชน์ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่กรณี (EU และจีน) น่าจะเกิดขึ้นและสามารถยุติการลุกลามของการตอบโต้ทางการค้าระหว่างกันไว้ได้ แต่ธุรกิจไทยที่เกี่ยวโยงด้านการค้ากับต่างประเทศยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และควรเตรียมความพร้อมรับมือกับภาวะการเปลี่ยนแปลงที่ยากจะคาดเดาผลลัพธ์ สำหรับภาพการส่งออกของไทยไปตลาดโลกในปี 2561 นั้น ยังมีสัญญาณค่อนข้างแข็งแกร่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงประมาณการการขยายตัวของการส่งออกของไทยในปี 2561 ไว้ที่ร้อยละ 4.5 และจะรอดูความคืบหน้าจากเกมการค้าโลกนี้เพื่อประเมินผลกระทบต่อการส่งออกและธุรกิจไทยต่อไป

สหรัฐฯ เดินเกมกดดันทางการค้ากับนานาชาติต่อเนื่อง จากจุดเริ่มต้นที่ประกาศใช้มาตรการ Safeguard (ปรับขึ้นภาษีนำเข้ากับทุกประเทศที่ส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ) กับสินค้าแผงโซลาร์เซลล์และเครื่องซักผ้าขนาดใหญ่เมื่อต้นปี 2561 ตามมาด้วยการประกาศใช้มาตรการ Safeguard กับสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมร้อยละ 25 และร้อยละ 10 ตามลำดับ ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ เพิ่งลงนามไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 อย่างไรก็ดี ความคืบหน้าล่าสุด ทางการสหรัฐฯ เปิดเผยว่า สำหรับเหล็กและอะลูมิเนียมนั้น แคนาดาและเม็กซิโก เป็น 2 ประเทศที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเป็นการชั่วคราวในฐานะ “เพื่อนแท้ (Real Friends)” ของสหรัฐฯ ประเด็นนี้ นำมาซึ่งความคุกรุ่นทางการค้าให้กับอีกหลายชาติที่ส่งสินค้าดังกล่าวไปยังสหรัฐฯ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเตรียมที่จะกีดกันการนำเข้าเพิ่มเติมกับสินค้าจีนในกลุ่มเทคโนโลยี IT สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการบริโภค เครื่องนุ่งหุ่ม รองเท้าและของเล่นที่มีมูลค่ารวมสูงถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การเดิมเกมกดดันทางการค้าข้างต้นของสหรัฐฯ เป็นการเปิดฉากความเป็นไปได้ที่จะส่งผลให้เกิดการตอบโต้ทางการค้าที่รุนแรงขึ้นจากคู่ค้าสหรัฐฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเศรษฐกิจหลักในโลก และในท้ายที่สุดแล้ว คงจะไม่ส่งผลดีต่อใครในภาวะที่การค้าของโลกในปัจจุบันนั้นมีการเชื่อมโยงกันอยู่อย่างแนบแน่น

มาตรการกีดกันทางการค้าครั้งนี้ของสหรัฐฯ แน่นอนว่ามีเป้าหมายหลักเพื่อการลดการขาดดุลการค้าที่มีสูงถึง 1.02 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ปกป้องธุรกิจสหรัฐฯ ที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งต้องการจะสร้างอำนาจต่อรองเพื่อให้สหรัฐฯ ได้รับผลประโยชน์ที่พึงพอใจ สะท้อนได้จากการนำเงื่อนไขการเป็น “เพื่อนแท้ (Real Friends)” ของสหรัฐฯ มาพิจารณา ส่งผลให้คู่ค้าของสหรัฐฯ แต่ละประเทศ จำเป็นต้องเข้ามาเจรจากับสหรัฐฯ ในลักษณะหนึ่งต่อหนึ่ง เพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ร่วมกัน ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องรอดูว่าจะมีประเทศใดที่เข้าเจรจากับสหรัฐฯ และได้รับการยกเว้นเพิ่มเติม ซึ่งสหรัฐฯ คงมีแผนงานพิเศษเพื่อเตรียมรับการเจรจากับ EU และจีน โดยคาดว่ารายละเอียดน่าจะเปิดเผยออกมาได้ก่อนที่มาตรการ Safeguard สินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมจะบังคับใช้ในปลายสัปดาห์หน้า ถ้าหากสหรัฐฯ ยกเว้นภาษีให้แก่ EU และจีน ก็อาจจะช่วยคลี่คลายแรงกดดันทางการค้าโลกในระยะต่อไปได้บางส่วน kb015

แต่ถ้าหากสหรัฐฯ ไม่มีข้อผ่อนผันให้แก่คู่กรณีทั้งสอง และยังเดินหน้าบังคับใช้มาตรการใหม่กับจีน หรือแม้กระทั่ง EU จนนำไปสู่การที่ทั้งจีนและ EU ประกาศใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้ากับสหรัฐฯ เช่นกัน และเกิดการตอบโต้ทางการค้าระหว่างกันในรอบต่อๆ ไปอีก มูลค่าความเสียหายจากข้อพิพาททางการค้าคงจะลุกลามไปทั่วโลก โดยการเจรจาที่ไม่สำเร็จในด้านหนึ่งเปิดความเสี่ยงให้จีนและ EU นำมาตรการตอบโต้ออกมาใช้ และต่อจากนั้นสหรัฐฯ ก็คงโต้กลับโดยเพิ่มความรุนแรงตามคำขู่ที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ในเบื้องต้น หากมีการเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม EU ได้เปิดเผยว่ามีแผนจะโต้กลับด้วยการกีดกันสินค้าสหรัฐฯ ในมูลค่าที่ใกล้เคียงกันที่ 3.5 พันล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งนับว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับแผนงานใหม่ที่สหรัฐฯ จะกดดันจีนด้วยมูลค่าสูงถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ และจีนเองก็คงไม่ยุติสงครามการค้าครั้งนี้โดยอาจโต้สหรัฐฯ กลับด้วยวิถีทางที่ไม่ต่างกันในกลุ่มสินค้าถ่านหิน สินค้าเกษตร และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจไทยที่ไม่ใช่เป้าหมายหลักของสหรัฐฯ โดยตรง ประกอบกับการส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2561 เร่งตัวที่ร้อยละ 17.6 (YoY) และน่าจะมีผลต่อเนื่องให้ไตรมาสแรกปี 2561 เติบโตค่อนข้างสูง ซึ่งจะมีส่วนช่วยหนุนการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงมุมมองการส่งออกของไทยไปตลาดโลกว่าอาจจะขยายตัวร้อยละ 4.5 ในปี 2561 โดยจะรอประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ จากข้อพิพาททางการค้าระหว่างแกนนำเศรษฐกิจโลกทั้งสหรัฐฯ EU และจีน ซึ่งมีประเด็นหลักที่ต้องพิจารณา ดังนี้

•ผลระทบทางตรงจากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่บิดเบือนไป อาจกระทบการส่งออกของไทยไปตลาดโลกคลาดเคลื่อนจากที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองไว้ ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ Bloomberg ได้ประเมินขนาดผลกระทบในกรณีที่สงครามการค้าโลกดำเนินไปสู่ความเลวร้ายที่จุดชนวนโดยสหรัฐฯ โดยคาดว่าจะสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจโลกเป็นวงเงินกว่า 4.7 แสนล้านดอลลาร์ฯ และฉุดเศรษฐกิจโลกอ่อนแรงลงจนกระทั่งหดตัวร้อยละ 0.5 ในปี 2563 เมื่อเทียบกรณีที่สหรัฐฯ ไม่ได้เก็บภาษี นอกจากนี้ จากข้อพิพาททางการค้าที่คุกรุ่นขึ้นนี้แน่นอนว่าคงทำให้การส่งออกของแต่ละประเทศในกลุ่มสินค้าที่อยู่ในรายการกีดกันปรับลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจำนวนสินค้าที่นำมาตอบโต้กันมีมากขึ้น ตัวอย่างเช่น กรณี EU ได้เตรียมแผนตอบโต้สหรัฐฯ ไว้ในระดับที่ใกล้เคียงกับกลุ่มเหล็กและอะลูมิเนียมเป็นมูลค่า 3.5 พันล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งในความเป็นจริงแทบจะไม่กระเทือนเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ แต่สิ่งที่จะเกิดหลังจากนี้ ถ้าหากสหรัฐฯ โต้กลับโดยกีดกันการนำเข้ารถยนต์จาก EU ด้วยขนาดการพึ่งพาการส่งออกยานยนต์ไปสหรัฐฯ ถึงร้อยละ 18.9 ของการส่งออกยานยนต์ทั้งหมดของ EU และเป็นการส่งออกยานยนต์ที่มีมูลค่าสูงยากที่จะหาตลาดอื่นทดแทนได้ ผลที่เกิดคงเกี่ยวโยงมาสู่กิจกรรมการผลิตและการจ้างงานใน EU ให้อ่อนแรงลงได้ ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้คงเกิดขึ้นกับจีนและนานาชาติที่เป็นคู่กรณีของสหรัฐฯ ทั้งสิ้น

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ •ผลกระทบทางอ้อมต่อธุรกิจไทย มีได้หลายแง่มุม ซึ่งธุรกิจไทยในเวลานี้ต้องเตรียมแผนงานทั้งเชิงรุกและตั้งรับกับความผันผวนทางการค้าที่ไม่ได้เกิดจากประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่อาจจะครอบคลุมหลายประเทศทั่วโลก ดังนี้

-สินค้าที่เป็นประเด็นกีดกันทางการค้าจะประสบปัญหาล้นตลาดและพร้อมที่จะระบายไปสู่ตลาดอื่น โดยเป็นผลกระทบที่น่าจะเกิดขึ้นทันทีหลังจากมาตรการถูกบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมจะเป็นสินค้ากลุ่มแรกที่ประสบปัญหานี้ โดยเฉพาะหากจีนไม่ได้รับการยกเว้นภาษี อาจทำให้สินค้าดังกล่าวจากจีนระบายมายังตลาดในเอเชียมากขึ้นเพื่อหาตลาดทดแทนตลาดสหรัฐฯ ซึ่งผู้ประกอบการในประเทศไทยอาจมีความเสี่ยงที่จะถูกสินค้าเหล็กราคาต่ำจากจีนเข้ามาแข่งขัน อีกทั้งยังต้องติดตามมาตรการตอบโต้ทางการค้าในรอบถัดๆ ไป ซึ่งอาจทำให้มีสินค้าหลายรายการที่เข้าสู่ภาวะดังกล่าว นอกจากนี้ การที่จะป้องกันการหลั่งไหลของสินค้าต่างชาติด้วยการใช้มาตรการ AD/CVD ของทางการไทยนั้น ก็คงต้องใช้เวลาจึงจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งในเบื้องต้นธุรกิจไทยควรต้องมีความยืดหยุ่นเพียงพอเพื่อต้านทางกับสถานการณ์นี้ในระดับหนึ่ง

-สินค้าไทยมีโอกาสที่จะแทรกตัวเข้าไปทำตลาดในประเทศคู่กรณี โดยได้อานิสงส์จากข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ  EU และจีน ซึ่งขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก คือ 1) ประเภทสินค้า ถ้าเป็นประเภทสินค้าที่สามารถทดแทนกันได้ หรือทดแทนกันได้บางส่วน ซึ่งในกรณีนี้สินค้าไทยอาจเข้าไปทำตลาดในประเทศปลายทางได้ อาทิ อาหารบางประเภท เสื้อผ้า และเหล็ก เป็นต้น แต่ถ้าเป็นสินค้าที่มีความเฉพาะตัวที่ต่างกับที่ไทยผลิต ก็คงยากที่ไทยจะเข้าไปทำตลาดแทนได้ อาทิ ตลาดรถยนต์หรูในสหรัฐฯ ซึ่งชาวอเมริกันนิยมรถยนต์ขนาดใหญ่ ขับพวงมาลัยขวาและมีข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่ต่างกับที่ไทยผลิตได้ ทำให้ธุรกิจไทยต้องใช้เวลาปรับตัวพอสมควรเพื่อทำตลาดสหรัฐฯ ขณะที่ ถ้าเป็นชิ้นส่วนยานยนต์ทั่วไป สินค้าไทยก็อาจจะมีโอกาสทำตลาดทดแทนได้ เป็นต้น 2) กำลังการผลิตของไทยมีเพียงพอที่จะเข้าไปทำตลาดอื่นเพิ่มเติมได้หรือไม่ ซึ่งถ้าหากไทยมีกำลังการผลิตส่วนเกิน ผู้ประกอบการไทยก็จะสามารถคว้าโอกาสนี้ไปได้ แต่ถ้าต้องขยายกำลังการผลิตคงต้องรอเวลาอีกเช่นกัน และ 3) ต้นทุนค่าขนส่งจากไทยไปยังประเทศปลายทาง หากมีต้นทุนที่ต่ำกว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการเก็บภาษีสินค้าที่มีการกีดกัน ก็คุ้มค่ากับการส่งสินค้าไทยเข้าไปรองรับความต้องการในตลาด EU และสหรัฐฯ

นอกจากนี้ ความท้าทายสำคัญของการผลิตไทยอีกประการหนึ่งคือ สินค้าไทยบางรายการไม่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของประเทศที่มีข้อพิพาทเหล่านี้ จึงยากที่สินค้าไทยจะแทรกตัวเข้าไปทำตลาดแทนสินค้าชาติที่ถูกกีดกัน อาทิ ในกรณีที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการกีดกันสินค้าจีนโดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีและ IT ในด้านหนึ่ง อาจกระทบกำลังการผลิตของจีนทำให้ต้องนำเข้าวัตถุดิบบางชิ้นจากไทยน้อยลง ขณะเดียวกันสินค้าที่ไทยมีก็ไม่สามารถทดแทนสินค้าจีนที่เคยทำตลาดสหรัฐฯ ได้เพราะไทยไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้น ซึ่งทำให้ไทยไม่ได้ประโยชน์จากเกมการค้านี้เลย นอกจากนี้ หากการตอบโต้ทางการค้ายังดำเนินต่อไปจนครอบคลุมสินค้าหลายรายการมากขึ้น คงยากจะหลีกเลี่ยงผลกระทบในวงกว้างที่มีต่อการผลิต การจ้างงาน จนส่งผลกดดันประเทศที่เป็นคู่กรณีของสหรัฐฯ

อนึ่ง ในกรณีเลวร้ายหากเกมการค้าที่เริ่มต้นโดยสหรัฐฯ ในรอบนี้ ได้ลุกลามไปจนครอบคลุมนานาประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ครอบคลุมสินค้ามากรายการมากขึ้นอีก ในที่สุดแล้วคงนำมาสู่วิกฤตความวุ่นวายทางการค้าโลก กระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในโลก และท้ายที่สุดก็จะฉุดการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า กล่าวคือ ประเทศคู่กรณีคงใช้มาตรการโต้กลับสหรัฐฯ โดยอาจพิจารณาใช้มาตรการแบบเจาะจงเป้าหมายหรืออาจใช้มาตรการ Safeguard ที่ส่งผลกีดกันสินค้าจากทุกประเทศ หรือประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อมจากการตอบโต้ทางการค้าอาจใช้มาตรการ AD/CVD แบบเฉพาะเจาะจงเพื่อป้องกันตัวเองจากการทะลักเข้ามาของสินค้าที่ล้นตลาดโลก ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการกีดกันในรูปแบบใดก็ย่อมจะไม่เกิดผลดี อีกทั้งยังทำให้เกิดการบิดเบือนของการค้าโลกในระยะข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การจะจบเกมนี้ได้คงต้องเป็นการหันหน้าเข้าสู่การเจรจาเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่กรณีที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ผ่านเครื่องมือทางการค้าที่มีอยู่โดยนำมาปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับสถานการณ์ภายใต้เงื่อนไขสู่การเป็น “เพื่อนแท้ (Real Friends)” ของสหรัฐฯ โดยหัวใจหลักในการเจรจาคงต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ในรูปแบบที่สหรัฐฯ พึงพอใจ แต่ถ้าหากในที่สุดแล้วไม่สามารถหาข้อยุติได้ นานาชาติคงร้องขอต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ให้ออกหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมทางการค้าและยุติความปั่นป่วน ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว