นักคิดรุ่นใหม่ กับการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน

13 ม.ค. 2561 | 00:42 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ปลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการประกาศตัวครั้งใหญ่ของ กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ถึง “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2563” หรือ “CP Group Sustainability Goals 2020” และหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของเครือซีพีครั้งนี้ ก็คือ “ดร.ยุทธ-ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ” ผู้บริหารด้านยุทธศาสตร์ความยั่งยืนและธรรมาภิบาลการสื่อสารและนวัตกรรมสู่ความยั่งยืนเครือเจริญโภคภัณฑ์ และยังเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เขาคนนี้คือ หนึ่งในทีมงานที่เข้ามารับโจทย์ใหญ่จากประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือซีพี “ศุภชัย เจียรวนนท์” โดยโจทย์หลัก คือ การสร้างความยั่งยืนผ่าน “คน” และ “นวัตกรรม”

การสร้างคนรุ่นใหม่ ให้มีศักยภาพมากขึ้น คือการเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้โดยไม่ปิดกั้น เพราะเทคโนโลยีทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก คนจึงต้องพร้อมเรียนรู้ ทดลอง และทุกอย่างต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เนื่องจากธุรกิจของเครือซีพี เป็นธุรกิจที่มีซัพพลายเชนที่ยาว ดังนั้น การรู้ระบบรู้กระบวนการทั้งหมด จะทำให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ “ดร.ยุทธ” บอกว่านี้คือ สิ่งที่ท่านประธานเน้น

[caption id="attachment_248752" align="aligncenter" width="459"] ดร.ยุทธ-ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ดร.ยุทธ-ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ[/caption]

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมา เครือซีพีมีภาพลักษณ์ด้านลบ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายๆ เรื่อง การเข้ามาทำเรื่องการสร้างความยั่งยืนคือ การแก้ปัญหาดังกล่าวหรือไม่ “ดร.ยุทธ” อธิบายว่า ธุรกิจของเครือซีพีมีหลากหลายมาก และเป็นธุรกิจที่มี Value Chain หรือห่วงโซ่แห่งคุณค่าที่ยาว จึงทำให้เกิดผลกระทบเยอะ การที่เครือซีพีลุกขึ้นมาทำเรื่องความยั่งยืน ภาพลักษณ์ถือเป็นเรื่องรอง สิ่งสำคัญคือการบริหารความเสี่ยง จากหลักคิด 3 ประโยชน์ คือ ประเทศชาติ ประชาชน และสังคม ก็คือเรื่องเดียวกับ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และจากการทำเรื่องความยั่งยืนมาต่อเนื่อง ทำให้เครือซีพีได้รับการยอมรับจาก 4 สถาบันจาก 3 ทวีป เช่น การได้เป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) การเป็นสมาชิกความยั่งยืน FTSE4Good Emerging Index การได้รับการประเมินที่ดีจากสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) และการได้ CG 5 ดาวจากโครงการ CGR2560 ของสถาบันกรรมการบริษัทไทย

การทำเรื่องความยั่งยืน สามารถช่วยได้ 3 เรื่อง คือ 1. การสร้างความเชื่อใจ ให้กับผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) ทั้งหมด 2. เป็นการลดต้นทุ่น เราทำเรื่องไบโอดีเซล การรีไซเคิล ลดขยะ และ 3. คือ การสร้างการเติบโต...แน่นอน การที่เครือซีพีได้รับการยอมรับจากสถาบันต่างๆ นั่นคือ เครื่องการันตีส่วนหนึ่งในการเป็นที่ยอมรับทางธุรกิจ ซึ่งนั่นจะทำให้การขับเคลื่อนธุรกิจในเครือเติบโตได้อย่างมั่นคง

ภารกิจส่วนหนึ่งของการสร้างความยั่งยืนให้องค์กร ที่จะได้เห็นกันในปีนี้ คือ เรื่องของกองทุน Social Impact Fund ซึ่งลงทุนในธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่มีทุนประเดิมประมาณ 1,000 ล้านบาท (อาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ แล้วแต่รูปแบบโครงการ) เขาบอกว่า ขณะนี้มีการคัดเลือกกว่า 50 สตาร์ตอัพ จนเหลือ 5 สตาร์ตอัพที่น่าสนใจ โดย

สตาร์ตอัพที่คัดเลือกเข้ามาคือ สตาร์ตอัพที่มีแนวคิดเรื่องความยั่งยืนจริงๆ และบิสิเนสโมเดลของเขา ต้องยั่งยืนด้วย และเครือซีพีต้องมีศักยภาพที่จะสนับสนุนธุรกิจของสตาร์ตอัพนั้นๆ ได้ ไม่เพียงแค่เรื่องเงิน แต่ต้องสนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีได้ด้วย ซึ่งปีนี้จะได้เห็นผลที่เป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น

[caption id="attachment_248749" align="aligncenter" width="335"] ดร.ยุทธ-ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ดร.ยุทธ-ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ[/caption]

ส่วนอีกกลุ่มที่จะเป็นโครงการคล้ายๆ กัน เป็นการดำเนินงานในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) คือ 1. กลุ่มที่ใช้จุดแข็งของเครือซีพีในการดำเนินงาน เป็นโครงการระยะยาว อาจจะ 5-10 ปี โดยท้ายสุดชาวบ้านจะเป็นเจ้าของ และสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง และ 2. กลุ่มที่นำ pain point ของสังคมมาเป็นแกน โดยรูปแบบโครงการยังอยู่ในช่วงการทดลอง และศึกษา ว่าบิสิเนสโมเดลไหนจะดีกว่ากัน และควรดำเนินการอย่างไร

“ดร.ยุทธ” บอกว่า ความท้าทายของงานที่ได้รับมอบหมายครั้งนี้ คือ การสร้างความเชื่อมโยง เพราะการสร้างความยั่งยืน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเกิดจากบริษัทเท่านั้น แต่ต้องเกิดจากการร่วมมือระหว่างทีมงาน ชาวบ้าน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ขณะที่การแข่งขันทางธุรกิจมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ องค์กรก็ต้องทำสังคมให้ดีไปด้วยพร้อมๆ กัน เพราะฉะนั้น ความคาดหวังจากการปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนี้ จึงเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า และการที่จะตอบโจทย์ทั้งการแข่งขัน และความร่วมมือทั้งหมด เพื่อให้เกิดความยั่งยืนได้ บริษัทก็ต้องมี “นวัตกรรม” ไปด้วยพร้อมๆ กัน เพราะนวัตกรรม จะเข้ามาช่วยลดต้นทุน และนวัตกรรมคือการค้นคิดให้ได้สินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น
งานที่ได้รับมอบหมายในครั้งนี้ ไม่ได้ทำให้เขาหนักใจ เพราะในการทำงาน ยังมีคนที่เป็นหัวเรือใหญ่ ที่มีความสามารถ และมีทีมงานที่แข็งแกร่ง ทำให้ภารกิจครั้งนี้ขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี แม้จะไม่ง่ายนัก แต่เขาก็พร้อมเดินสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2563 ของเครือซีพี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,330 วันที่ 11 - 13 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9