แห่ยื่นราคา‘แนะนำ’ ทวงภาษีโรงงานยาสูบ

15 ต.ค. 2560 | 06:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สรรพสามิตผู้ประกอบการไวน์ เครื่องดื่ม ยื่นเสียภาษีที่ คิดตามราคาขายปลีกแนะนำราบรื่น ขาดเพียงบุหรี่โดยเฉพาะโรงงานยาสูบ

พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต ที่มีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งปรับฐานการคิดภาษีจากราคาหน้าโรงงาน หรือราคาซีไอเอฟ มาเป็นราคาขายปลีกแนะนำ ทำให้มีการปรับอัตราภาษีใหม่ในหลายตัวสินค้า

แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การยื่นเสียภาษีสรรพสามิตตามรายสินค้าเรียบร้อยดี โดยทั้งไวน์ เบียร์ เครื่องดื่ม นํ้ามันและผลิตภัณฑ์นํ้ามัน และรถยนต์ ต่างก็ยื่นเสียภาษีครบหมดแล้ว เพราะรวมๆ ราคาสินค้าเหล่านี้ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก โดยกลุ่มที่ไม่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นคือ รถยนต์และนํ้ามัน ขณะที่ไวน์และเบียร์ปรับขึ้นเล็กน้อย และเครื่องดื่มก็มีทั้งที่ปรับเพิ่มขึ้นและลดลง

อย่างไรก็ตามกลุ่มที่ยังไม่ได้ยื่นเสียภาษีคือ บุหรี่ โดยโรงงานยาสูบไม่ได้ยื่นเสียภาษีนับตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน ทั้งที่ปกติจะต้องยื่นเสียทุกวัน ซึ่งปกติภาษีจากบุหรี่รวมทั้งในประเทศและบุหรี่นำเข้าจะตกเดือนละประมาณ 5-6 พันล้านบาท เพราะสินค้าออกจากโรงงานทุกวัน เนื่องจากมีการบริโภคอยู่แล้ว แต่ไม่ทราบสาเหตุว่าการที่โรงงานยาสูบไม่มายื่นเสียภาษีเกิดจากอะไร ส่วนหนึ่งอาจเพราะมีการซื้อแสตมป์ไปมากในช่วงที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้แต่ก็คาดว่าน่าจะหมดแล้ว

สำหรับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตใหม่จะเน้นหนักไปทางปริมาณมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่นต่างประเทศสัดส่วนการคิดภาษีระหว่างปริมาณกับมูลค่าจะอยู่ที่ 80 ต่อ 20 ขณะที่ไทยเองสัดส่วนยังอยู่ที่ 45 ต่อ 55 ดังนั้นหากจะมีการเพิ่มอัตราจัดเก็บในอนาคต จะเน้นทางปริมาณมากขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นของประชาชน

“ภายใน 6 เดือนถึง 1 ปี จะเห็นการปรับตัวของผู้ประกอบการ อย่างเครื่องดื่ม สินค้าล็อตใหม่ที่จะออกมาจะลดความหวานลง เพื่อไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งที่สุดแล้วประโยชน์จะตกกับประชาชน ขณะที่สินค้าล็อตเก่า อาจจะยังคงรักษาตลาดไว้ แต่ภายใน 2 ปี การจัดเก็บภาษีจะเพิ่มขึ้นแบบอัตราก้าวหน้า”

ด้านนางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบกล่าวยืนยันว่า โรงงานยาสูบยื่นชำระภาษีทุกวันตามปกติ เพราะกฎหมายกำหนดอยู่แล้ว ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพียงแต่กระบวนการชำระกฎหมายได้เปลี่ยนไปจากเดิม ที่ใช้ระบบเครื่องหมายแทนแสตมป์ มาเป็นแสตมป์ ซึ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้น เพราะเครื่องหมายแทนแสตมป์จะอยู่ในกระบวนการผลิตเลย จะชำระภาษีเมื่อมีการนำออกจากโรงงาน แต่กฎหมายใหม่กำหนด ให้นำแสตมป์มาติดแทน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,305 วันที่ 15 - 18 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว