TCDCผนึกบริติช เคานซิลถอดแบบโมเดลอังกฤษดันยุทธศาสตร์ “ย่านสร้างสรรค์ไทย”

10 ต.ค. 2560 | 08:04 น.
อัพเดตล่าสุด :10 ต.ค. 2560 | 15:04 น.
ทีซีดีซี จับมือ บริติช เคานซิล ดันยุทธศาสตร์ “ย่านสร้างสรรค์ไทย”ถอดแบบโมเดลประเทศอังกฤษ พร้อมชี้ไทยมีศักยภาพสูงในภูมิภาค

กรุงเทพฯ 10 ตุลาคม 2560 – ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ร่วมกับ บริติช เคานซิล (British Council) องค์กรนานาชาติเพื่อส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา ศิลปะ และวัฒนธรรมแห่งสหราชอาณาจักร ผลักดันยุทธศาสตร์ “ย่านสร้างสรรค์ไทย” และ “ครีเอทีฟฮับ” ระดับภูมิภาคเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมเผยจุดเด่นของประเทศไทยว่ามีความชัดเจนในด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงนโยบายของประเทศ ยังเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และได้มีการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ที่ทำหน้าที่เป็นครีเอทีฟฮับ (Creative Hub) หรือศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์

ซึ่งล้วนเป็นกลไกที่จะสามารถผลักดันให้ประเทศไทย เป็นประเทศชั้นแนวหน้าด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของภูมิภาคผ่านความร่วมมือกับสหราชอาณาจักรและนานาประเทศ ทั้งนี้ได้จัดกิจกรรมสัมมนา “การพัฒนาเมืองสร้างสรรค์และศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์” ถอดรหัสกรณีศึกษาของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในนานาประเทศ

tcd

นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช รักษาการผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันของเศรษฐกิจประเทศนั้น หนึ่งในปัจจัยหลักสำคัญ คือ การเร่งพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และผลักดันให้เกิดระบบนิเวศเชิงสร้างสรรค์ที่เอื้อต่อผู้ประกอบการ โดยการที่จะประสบความสำเร็จตามเป้าประสงค์ดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน จึงทำให้เกิดการจับมือกับหน่วยงานภาครัฐ ในการดำเนินงานพัฒนาฐานข้อมูล นโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อผลักดันให้เกิดเป็นยุทธศาสตร์ “ย่านสร้างสรรค์ของไทย” และกลายเป็น “ศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์” (Creative Hub) ในระดับภูมิภาคต่อไป

โดยล่าสุด ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ได้ร่วมมือกับ บริติช เคานซิล (British Council) ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติเพื่อส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา ศิลปะ และวัฒนธรรมแห่งสหราชอาณาจักร แลกเปลี่ยนความรู้ผ่าน งานสัมมนา “การพัฒนาเมืองสร้างสรรค์และศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์” เพื่อถอดองค์ความรู้ของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในนานาประเทศ โดยเฉพาะ สหราชอาณาจักร เพื่อนำไปสู่การสร้างระบบนิเวศสร้างสรรค์ที่เอื้อต่อการเติบโต และพัฒนาเมืองสร้างสรรค์และศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

tcd5

นายกิตติรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หัวใจสำคัญของย่านสร้างสรรค์ คือ การผสานความคิด ทัศนคติ และวิถีชีวิตของผู้คนในย่าน ที่รวมตั้งแต่ผู้อยู่อาศัยเดิม ผู้ประกอบการ และนักลงทุนที่สนใจในย่านนั้นๆ ให้มีความเข้าใจ ความคิดเห็น และเป้าหมายในการพัฒนาย่านดังกล่าวให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้สามารถหาเอกลักษณ์ ความถนัดเฉพาะทางที่มีร่วมกันและต่อยอดให้เกิดเป็นความเข้มแข็งของย่านต่อไป

จากงานวิจัยพบว่า ปัจจัย 9 สิ่งที่จะผลักดันให้เกิดความสร้างสรรค์ที่จะนำมาซึ่งย่านสร้างสรรค์ที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ 1) เครือข่ายความร่วมมือในระดับชุมชน 2) องค์กรหรือสถาบันทางวัฒนธรรมในพื้นที่ 3) โครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการอนุรักษ์อาคารประวัติศาสตร์ของย่าน การให้ประโยชน์ทางระบบภาษี และการสร้างแรงจูงใจในการอนุรักษ์ย่านประวัติศาสตร์ 4) ที่อยู่อาศัยและที่ทำงานสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการและบุคลากรในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 5) เครือข่ายและการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และบุคลากรสร้างสรรค์ 6) ระบบนิเวศเชิงสร้างสรรค์ภายในพื้นที่ 7) โครงการและสถานที่เพื่อการบ่มเพาะทักษะ 8) แผนพัฒนาเศรษฐกิจในระดับย่าน 9) กลไกสนับสนุนทางการเงิน และการให้สิทธิประโยชน์

tcd1

ด้านมร.แอนดรูว์ กลาส (Mr. Andrew Glass OBE) ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า บริติช เคานซิล คือองค์กรนานาชาติเพื่อส่งเสริมการศึกษา ศิลปะ และวัฒนธรรมแห่งสหราชอาณาจักร สร้างสรรค์ความรู้และความเข้าใจระหว่างผู้คนในสหราชอาณาจักรและผู้คนทั่วโลก ซึ่งได้ดำเนินงานในประเทศไทยมากว่า 65 ปี และในปีนี้จนถึงปี 2020 กลยุทธ์ในการดำเนินงานจะมุ่งเน้นใน 3 เรื่องหลักคือ การพัฒนาภาษาอังกฤษของคนในประเทศ การพัฒนาอุดมศึกษาและงานวิจัยสู่ความเป็นนานาชาติ

และการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อความสอดคล้องกับโมเดลพัฒนาประเทศ ไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งเน้นด้านนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ สหราชอาณาจักรเป็นผู้นำระดับโลกด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และมีประวัติความสำเร็จอันยาวนาน การพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 1997 นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของสหราชอาณาจักรเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและมีมูลค่ากว่า 8,700 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 10 ล้านปอนด์ต่อชั่วโมงในปัจจุบัน

tcd2

ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าอุตสาหกรรมยานยนตร์และอุตสาหกรรมการบิน แผนกเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของบริติช เคานซิล ได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรทั่วโลกเพื่อพัฒนาศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์และเมืองสร้างสรรค์ พันธมิตรหลักในการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของเราในประเทศไทยคือ ทีซีดีซี การจัดงานสัมมนาครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่เราได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเมืองสร้างสรรค์จากหลากหลายประเทศเพื่อทำความเข้าใจกับนิยาม บทบาทของศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์และความสำคัญของพื้นที่สร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาสังคม

นอกจากนี้ บริติช เคานซิล ยังได้จัดทำ คู่มือสร้างศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ (Creative HubKit) และแผนที่ศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Creative Hubs Mapping Report) เพื่อพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ในการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์และความร่วมมือในระดับภูมิภาคต่อไป นอกเหนือไปจากการอบรม สัมมนา และการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านพื้นที่สร้างสรรค์ ระหว่างสหราชอาณาจักรและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

e-book