โอนเงินเรียลไทม์ผ่านบล็อกเชน เร็วจี๋แค่‘วินาที’ BAYรุกอี-เทรดไฟแนนซ์

06 ก.ย. 2560 | 12:06 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างทดลองนำระบบเทคโนโลยี Blockchain ที่นำมาใช้กับธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) ภายใต้ชื่อ “Blockchain’s Interledger” ถือเป็น 1 ใน 2 ธนาคารที่ได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้เข้าสู่การทดสอบในสนามทดลองนวัตกรรมการเงิน หรือ Regulatory Sandbox โดยคาดว่าจะออกจากการทดลองได้ภายในปีนี้

ระบบ Interledger จะเป็นนวัตกรรมสำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพและความรวดเร็วในการโอนเงินระหว่างประเทศแบบเรียลไทม์ ทำให้ระยะเวลาการโอนเงินของผู้ส่งออกและนำเข้าลดลงจากเดิมใช้เวลา 2-3 วัน จะลดเหลือเป็นวินาที ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการจัดการของลูกค้า เนื่องจากได้รับเงินเร็วขึ้น การหมุนเวียนสภาพคล่องดีขึ้น ส่งผลต่อเนื่องไปยังการช่วยลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้าได้ด้วย

ขณะเดียวกันช่วยลดความเสี่ยงจากธนาคารตัวกลางที่จากเดิมจะมาทำหน้าที่เป็นตัวแทน ซึ่งมีหลายธนาคารในหลายประเทศที่ไม่ได้รู้จัก จึงเป็นความเสี่ยงระหว่างทาง รวมถึงยังช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ถูกเรียกเก็บจากธนาคารตัวแทนกลางได้อีกด้วย ทำให้รอบของการหมุนเวียนธุรกิจเร็วขึ้น

MP24-3293-A อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นของการทดสอบระบบ Interledger เริ่มทดลองกับบริษัทภายในประ เทศกับเครือข่ายสาขาของ MUFG ในประเทศญี่ปุ่นก่อน เนื่องจากการทดลองจะต้องมีการเชื่อมระบบระหว่างกันระหว่างผู้โอนและผู้รับ จึงเริ่มจากญี่ปุ่นที่ธนาคารมีเครือข่ายของ MUFG ก่อน และค่อยทยอยทำระบบเชื่อมโยงต่อไปเรื่อยๆ ที่มีเครือข่ายกว่า 2,000 แห่ง ในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ซึ่งภายหลังจากการทดสอบพบว่ามีจำนวนธุรกรรม (Transaction) ทยอยเพิ่มขึ้นให้เห็น และยังไม่พบปัญหาธุรกรรมสะดุดแต่อย่างใด

ธนาคารคาดว่าภายในปีนี้จะได้รับอนุมัติจากธปท.สามารถออกจาก Sandbox และเริ่มใช้ได้ทั่วไปภายในต้นปี 2561 โดยกลุ่มที่ธนาคารจะขยายและโฟกัสการใช้ผ่าน Interledger จะเน้นในกลุ่มที่มีปริมาณธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศค่อนข้างหนาแน่นก่อน จะเป็นประเทศญี่ปุ่น สหรัฐฯ และจีน เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่มีปริมาณธุรกรรมสัดส่วนสูงของธนาคาร โดยญี่ปุ่นมีปริมาณธุรกรรมส่งออก 12% นำเข้า 16% จีนส่งออก 11% นำเข้า 12% และสหรัฐฯ ส่งออก 11% และนำเข้า 8%

นอกจากนี้ ธนาคารยังพัฒนาธุรกรรมภายในประเทศผ่านเทคโนโลยี Electronic Invoice Presentment & Payment หรือ EIPP ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ โดยสามารถเชื่อมต่อระบบการจัดการทางบัญชี เพื่อการโอนเงิน ตรวจสอบรายการ และยังเชื่อมต่อแผนพัฒนาระบบรองรับโครงการใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐบาล ช่วยลดต้นทุน และธนาคารยังสามารถสนับสนุนวงเงินให้ผู้ซื้อและผู้ขาย (Supply Chain) ได้สะดวกยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันยังมีระบบแจ้งเตือนการชำระเงินผ่าน RTP-Depository Platform ผ่าน SMS,E-Mail, Mobile Application และผู้จ่ายสามารถ เลือกชำระจาก Mobile Application หรือ QR Code จะช่วยลดความเสี่ยงจากการใช้เงินสดและต้นทุนการชำระข้ามธนาคารจะลดลง

ทั้งนี้การนำเทคโนโลยีมาใช้ 2 ระบบของธุรกรรมภายในประเทศ และธุรกรรมระหว่างประเทศเนื่องจากทั้ง 2 ธุรกิจ จะเป็นธุรกิจใหม่ที่จะสร้างการเติบโตให้กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขในช่วงครึ่งปีแรกพบว่าธุรกรรมเทรดไฟแนนซ์ขยายตัว 17% จากสิ้นปีก่อนขณะที่ธุรกิจ Supply Chain Solution มียอดการตั้งวงเงินสะสมเติบ โต 20% และยอดสินเชื่อขยายตัว 17% โดยปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท คาดว่าหลังนำเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตเพิ่มขึ้น

สำหรับผลการดำเนินงานธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในช่วงครึ่งปีแรก ธนาคารปล่อยสินเชื่อเติบโตแล้ว 7.6% ขยายตัวสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปีอยู่ที่ 6.8% และเติบโตกว่าทั้งระบบที่เติบโตเพียง 3-4% โดยธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.65 แสนบ้านบาท จากสิ้นปีก่อนยอดคงค้างอยู่ที่ 1.53 แสนล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็ก (SSME) ที่มียอดขายตั้งแต่ 20-150 ล้านบาท มีพอร์ตสินเชื่ออยู่ที่ 6.7 หมื่นล้านบาท และกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดกลาง Medium Business ที่มียอดขายตั้งแต่ 150-1,000 ล้านบาท มีพอร์ตสินเชื่ออยู่ที่ 9.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งปีนี้จะเห็นอัตราการเติบโตของลูกค้าขนาดกลางมากกว่าขนาดเล็ก ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปัจจุบันอยู่ที่ 4.2% ตํ่ากว่าระบบอยู่ที่ 4.4% ทั้งปีจะพยายามควบคุมให้อยู่ในระดับดังกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,293 วันที่ 3 - 6 กันยายน พ.ศ. 2560
e-book