ส่งออกข้าว ไทยเหนื่อย! ไร้ออร์เดอร์ล็อตใหญ่

27 ส.ค. 2560 | 11:09 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ผู้ส่งออกข้าวเหนื่อย ออร์เดอร์ล็อตใหญ่ครึ่งปีหลังยังต้องลุ้น ขณะผลผลิตข้าวนาปรังทะลัก กดราคาส่งออกลด ปากีฯดัมพ์ราคาแข่งยิ่งขายยาก ด้านออร์เดอร์จีทูจีบังกลาเทศยังตั้งแง่ ต่อราคาไทยให้ลดเหลือ 460 ดอลล์ต่อตัน

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์ส่งออกข้าวในช่วงนี้ว่าค่อนข้างเหนื่อยในการทำตลาดเพราะไม่มีคำสั่งซื้อล็อตใหญ่เข้ามา ประกอบกับราคาข้าวส่งออกของไทยลดลง จากก่อนหน้านี้ข้าวขาว 5% ราคาเอฟโอบีอยู่ที่ 440-450 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ล่าสุดเหลือ 390 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน สาเหตุส่วนหนึ่งจากผลผลิตข้าวนาปรังที่ทยอยออกสู่ตลาดช่วงนี้เริ่มมีมาก คาดจะมีผลผลิตรวมประมาณ 5 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็น 3 ล้านตันข้าวสาร แต่ผู้ค้าขายข้าวไม่ได้ มีผลให้ราคาข้าวลดลง

[caption id="attachment_20702" align="aligncenter" width="422"] ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ ชูเกียรติ โอภาสวงศ์[/caption]

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบจากยังไม่มีคำสั่งซื้อหรือออร์เดอร์ล็อตใหญ่ๆ เข้ามาช่วยกระตุ้นราคา รวมทั้งประเทศคู่แข่งขันได้ลดราคาข้าวลงอีก เช่น ราคาข้าวขาว 5% ของปากีสถานที่กำลังมีผลผลิตฤดูกาลใหม่ออกมาได้ลดราคาขายเหลือเพียง 360 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ข้าวอินเดียราคาใกล้เคียงกับไทย

ส่วนคำสั่งซื้อจากตลาดอิรักและตลาดอิหร่านขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า โดยในส่วนของอิหร่าน แม้ว่าจะมีการซื้อขายระหว่างเอกชนกับเอกชนไปบ้างแล้ว แต่มีปัญหาว่าผู้ส่งออกบางรายยังไม่ได้รับเงินหรือมีการเคลมสินค้ากันเกิดขึ้น จึงทำให้ออร์เดอร์ใหม่ๆ ยังไม่เกิดขึ้น ส่วนตลาดอิรักแม้ว่าจะมีการเปิดประมูลไปแม้ว่าไทยจะเสนอราคาตํ่าสุดแต่อิรักก็ยังไม่ซื้อข้าวไทย ซึ่งไม่ทราบว่าติดขัดปัญหาอะไร ส่วนบังกลาเทศที่มีการเปิดประมูลข้าวนึ่งแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) นั้น ยังไม่ตกลงในเรื่องของราคา โดยไทยเสนอที่ 495 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ในขณะที่ราคาประมูลทั่วไปอยู่ที่ 420 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่งห่างกันถึง 70 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่บังกลาเทศเปิดประมูล 2 แบบคือ แบบจีทูจีและแบบทั่วไป ทำให้ผู้ซื้อ มองว่าราคาจีทูจีกับราคาประมูล ทั่วไปห่างกันเกินไป ทั้งนี้ราคาที่บังกลาเทศต้องการอยู่ที่ 460 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,291 วันที่ 27 - 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560