คุมก่อนแย่! โซเชียลคุกคาม 'เยาวชน'

11 ส.ค. 2560 | 14:10 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สื่อโซเชียลคุกคามหนัก แนะคนเสพสื่อยุคใหม่ต้องมีภูมิคุ้มกัน เยาวชนต้องรู้เท่าทัน ขณะเดียวกันต้องเข้มงวดผู้ผลิตสื่อ เหตุไม่มีองค์กรกำกับดูแล

กระแสนิยม “สื่อโซเชียล” วันนี้ส่งผลกระทบต่อสังคม ทั้งเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป เมื่อทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็น “สื่อ” โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยหลัก ทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารได้โดยขาดวิจารณญาณ และจิตสำนึก บทบาทที่เพิ่มสูงขึ้นของสื่อโซเชียลทำให้ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป และต้องเร่งหาแนวทางป้องปราม

โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้สถานการณ์สื่อมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปสูงมาก โดยเฉพาะสื่อใหม่ (New Media) อย่างสื่อโซเชียล ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วจากการเข้ามาของเทคโนโลยี ส่งผลให้การสื่อสารในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ใครๆ ก็สามารถเป็นผู้สร้างสื่อ ผู้เผยแพร่สื่อได้ ซึ่งสิ่งที่ส่งผลตามมาคือ กระบวนการในการกลั่นกรองที่ลดน้อยลง เมื่อเทียบกับสื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อทีวีที่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น หัวหน้าข่าว บรรณาธิการข่าว เป็นผู้กลั่นกรอง รวมทั้งมีมาตรฐานเป็นข้อกำหนด

[caption id="attachment_192619" align="aligncenter" width="503"] วสันต์ ภัยหลีกลี้ วสันต์ ภัยหลีกลี้[/caption]

“สื่อโซเชียลมีข้อดีคือ ทำให้ผู้คนสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างรวดเร็ว พบปะ พูดคุย เรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้หลากหลาย แต่ข้อเสียคือความหลากหลายเหล่านั้นมีสิ่งแอบแฝง หลอกลวง การนำเสนอเรื่องราวที่เป็นเท็จ หวังผลประโยชน์ และความคึกคะนอง”

ดังนั้นเด็ก เยาวชน และประชาชนในยุคนี้ต้องมีภูมิคุ้มกัน มีวิจารณญาณที่จะเชื่อ ขณะที่ผู้นำเสนอเองก็รู้จักรับผิดชอบต่อสังคม ขณะที่แนวทางการแก้ไขของกองทุนฯ คือ หากเป็นการกระทำที่เป็นภัยคุกคาม ผิดกฎหมาย ก็ต้องมีการกำกับดูแล ควบคุม ลงโทษ ฯลฯ อีกแนวทางคือการส่งเสริมให้คนรู้เท่าทันเทคโนโลยีสื่อ และดิจิตอลแพลต ฟอร์ม เพราะสื่อวันนี้เหมือนห้องเรียนขนาดใหญ่ ที่ใช้สำหรับเรียนรู้ ติดต่อเชื่อมโยง และสร้างจินตนาการ

“โจทย์คือ ทำอย่างไรจะทำให้เกิดสื่อที่ปลอดภัย มีจรรยาบรรณ มีจริยธรรม ดีต่อสังคม เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป วันนี้เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท ทำให้สื่อใหม่เข้ามาซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะคนเท่านั้น แต่ยังกระทบสื่อดั้งเดิม โฆษณาที่ลดลงผลประกอบการที่ยํ่าแย่ ในภาพรวมผู้ประกอบการสื่อจะต้องปรับตัวจากสื่อสิ่งพิมพ์ สู่สื่อออนไลน์ เป็นต้น”

นายวสันต์ กล่าวอีกว่า วันนี้นอกจากการเฝ้าระวัง การสร้างกลไกในการกำกับดูแลสื่อ พร้อมรณรงค์ให้คนตื่นตัวกับสื่อไม่ปลอดภัย ไม่สร้างสรรค์ การสร้างศักยภาพผู้ผลิต การกำกับดูแลกันเอง การสร้างมาตร ฐานวิชาชีพสื่อ มาตรฐานการใช้สื่อ ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องเดินหน้า ซึ่งในแต่ละปีกองทุนจะได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยเริ่มต้นปีแรก (ปี 2558) ได้รับเงินงบประมาณสนับสนุน 8 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 171 ล้านบาทในปีถัดมา และล่าสุดได้รับงบรวม 474 ล้านบาท และถูกนำไปจัดสรรในการสนับสนุนการผลิตสื่อสร้างสรรค์ 410 ล้านบาท ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดี เมื่อภาครัฐให้การสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,286 วันที่ 10 -12 สิงหาคม พ.ศ. 2560